มองต่าง! EA27-110 บาท ... 'ธนชาต' ต่อจิ๊กซอว์โมเดลธุรกิจหรู - 'ไทยพาณิชย์' ไม่รวมแบตฯ

03 ก.พ. 2561 | 15:26 น.
2213

“หุ้นพลังงาน” บริสุทธิ์ร้อนแรง! “ธนชาต” เพิ่มมูลค่าหุ้นพุ่งอีกเท่าตัว คาดสิ้นปีนี้อยู่ที่ 110 บาท ปี 2563 ถึง 130 บาท มองกำไรก้าวกระโดด 3.2 เท่า ใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ “บล.ไทยพาณิชย์” ให้เป้าแค่ 27 บาท คิดเฉพาะขายไฟฟ้า ไม่แน่ใจความสำเร็จโครงการแบตเตอรี่ในอนาคต

นักลงทุนที่ติดตามการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA อาจจะสับสน เมื่อพิจารณาข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนที่ให้ราคาเฉลี่ย (IAA Consensus Target Price) หุ้นละ 47 บาท โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาตฯ เพิ่งปรับเพิ่มมูลค่าเหมาะสมจาก 46 บาท เป็น 110 บาท ถือว่าเป็นการตีราคาที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)ฯ ที่เพิ่งปรับประมาณการเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2561 ให้ราคาเป้าหมาย 47 บาท และ บล.ไทยพาณิชย์ฯ เป็นเจ้าเดียวที่ไม่ได้ทบทวนประมาณการ คงราคาเป้าหมายไว้ที่ 27 บาท

การปรับเพิ่มราคาเป้าหมายถึง 106% ของ บล.ธนชาตฯ จุดพลุให้ราคาหุ้น EA ดีดขึ้นแรง เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561 ให้เหตุผลถึงที่มาของราคา 110 บาท เกิดจากการมองอนาคตภาพอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและนโยบายที่ชัดเจนขึ้น ยก EA เป็นผู้นำเทรนด์การกักเก็บพลังงานในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมากกว่าธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อมั่นว่า บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ จะกลายเป็นผู้นำด้าน Power Solution ของอาเซียน พร้อมปรับสมมติฐานเพิ่มขนาดกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (ES) เป็น 30GWh ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2562-2566) จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 10GWh หรือ 60% ของแผนบริษัทที่ 50GWh

“เราให้ราคาเป้าหมายหุ้น EA ถึง 130 บาท ในปี 2563 เพราะมองว่า บริษัทเป็น 1 ในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงที่สุดของไทย คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น 3.2 เท่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า และ 8.6 เท่า ใน 10 ปี จากธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ที่สร้างกระแสเงินสดให้สม่ำเสมอและมีเสถียรภาพ” บล.ธนชาตฯ ระบุ

สาเหตุที่มั่นใจในผลงานของ EA เนื่องจากคาดว่า บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ จะสร้างอาณาจักรภายใต้แนวคิด สมาร์ท ซิตี บนพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะมีโรงงานแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานใหญ่ระดับโลก มีกำลังการผลิต 30GWh โรงงานไบโอดีเซล ขนาด 1 ตัน และมีซัพพลายเชนด้วยกลยุทธ์การใช้แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน 70-80% มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ขายแพ็กเกจครบวงจร (ESS) ในตลาดอาเซียน รวมถึงการเป็นเจ้าของสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ และอาจจัดจำหน่ายแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)


MP17-3331-A

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงก็เกิดขึ้นได้ หากเกิดความล่าช้าของโครงการและด้านเทคโนโลยีของแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน แต่เชื่อว่า มีโอกาสบวกมากกว่า ส่วนการลงทุนใน บริษัท อมิต้าฯ 50% ก็ส่งมอบโรงงานแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานให้รัฐบาลปักกิ่งเรียบร้อยแล้ว โดยไม่คิดว่า การเพิ่มทุนในอนาคตเป็นความเสี่ยง แต่กลับเป็นหนทางการเติบโต แต่คาดว่า บริษัทจะไม่เพิ่มทุนเพื่อลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ แต่อาจจะเพิ่มทุนเพื่อลงทุนในโครงการ ESS หลังปี 2563

ทางด้าน บล.ไทยพาณิชย์ฯ ที่ประเมินมูลค่า EA ออกมาต่ำมาก เพียง 27 บาท ค้านสายตาของนักลงทุน เหตุผลสำคัญ คือ ประเมินมูลค่าที่ได้รับจากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ตามหลักการคำนวณมูลค่าเท่านั้น ยังไม่นำรายได้หรือกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานและโครงการต่อเนื่อง เพราะโครงการลงทุนยังมีความไม่แน่นอน


728x90-03

นักวิเคราะห์รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า โครงการแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานมีความเสี่ยง และจะต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยที่เอกชนลงทุนก่อน รัฐบาลหลายประเทศยังไม่ให้การสนับสนุน รวมถึงเทคโนโลยีซับซ้อน อาจจะทำให้นักวิเคราะห์ไม่มีความรู้มากพอ

“ทุกคนชอบโมเดลธุรกิจของ EA และชื่นชมไอเดียของ คุณสมโภชน์ อาหุนัย แต่เมื่อยังไม่เห็นโครงการแบตเตอรี่สำเร็จ ขณะที่ บริษัทมีการลงทุนมหาศาล ทั้งการซื้อที่ดินและการซื้อหุ้นอมิต้าฯ จึงยังไม่รีบนำข้อมูลในอนาคตมาตีมูลค่าที่เหมาะสมในปีนี้” นักวิเคราะห์ กล่าว


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14-17 ม.ค. 2561 หน้า 17

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9