ที่ดินอีอีซีพุ่งรับทุนต่างชาติ 10 บิ๊กเอกชนไล่ซื้อเก็งแนวพื้นที่เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา-ไฮสปีดเทรน

17 ม.ค. 2561 | 15:23 น.
ราคาที่ดินภาคตะวันออกพุ่งกระฉูด รับกระแสการลงทุนอีอีซี ฉะเชิงเทรา เอกชนกว่า 10 รายกว้านซื้อไร่ละ 12-13 ล้านบาท เก็งไว้เป็นพื้นที่เมืองใหม่ ขณะที่ระยอง ตามแนวรถไฟความเร็วสูงขยับขึ้นเท่าตัวไร่ละ 10 ล้านบาท ส่วนทำเลปลวกแดงและมาบตาพุดไล่ซื้อจัดตั้งนิคมฯ

นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) และจะพัฒนาบางพื้นที่ของจ.ฉะเชิงเทราเป็นเมืองใหม่หรือเมืองอัจฉริยะ(สมาร์ทซิตี) ส่งผลให้ราคาที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทราขยับสูงขึ้นทั้งจังหวัด จากการคาดการณ์ว่าพื้นที่เมืองใหม่และสถานีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา ว่าจะอยู่บริเวณไหน ทำให้มีการกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางนํ้าเปรี้ยว อำเภอบางคล้า อำเภอพนมสารคาม อำเภอแปลงยาว อาจเป็นเมืองควบได้ ราคาที่ดินขึ้นสูงทั้งหมด ยกเว้นอำเภอท่าตะเกียบที่เป็นที่ดินส.ป.ก.แต่ที่ราคาสูงมากจะเป็นอำเภอบางนํ้าเปรี้ยว เพราะใกล้กักรุงเทพมหานคร

tp11-3331-a ทั้งนี้ อยากเตือนประชาชน ว่า อย่าตื่นกับราคาที่ดินที่สูงขึ้นกระทบต่อการซื้อและสร้างที่อยู่อาศัยส่วนรายที่ต้องการขาย เพราะราคาที่ดินสูงขึ้นต้องพิจารณาให้ดีนอกจากนี้นายหน้าและนักลงทุนต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อที่ดิน หากซื้อไปพัฒนาไม่ได้ ติดข้อห้ามทางผังเมืองที่จะออกมา หรือทำเลนั้นไม่ใช่ที่ตั้งของเมืองใหม่และสถานีรถไฟความเร็วสูงตามที่คาดเดากันก็จะเกิดปัญหาตามมา

นายจอมทรัพย์ ชูทับทิม เลขาธิการหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า พื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ จะรองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร อยู่ในรัศมีไม่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้ามากนัก ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับขึ้นทุกพื้นที่ โดยราคาที่ดินในเขตบางปะกงจากราคาไร่ 7ล้านบาท ในปี 2557-2558 ขยับเป็น 9 ล้านบาทต่อไร่ และปี 2560 ขยับขึ้น 12-13 ล้านบาทต่อไร่ บริเวณโรงงานโตโยต้า ติดถนนใหญ่ อำเภอบ้านโพธิ์ ราคาซื้อขายที่แพงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการใช้เปิดเป็นทางเข้าออก เพื่อเชื่อมแปลงที่ดินด้านในจะราคาสูงไม่ตํ่ากว่า 20 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเล็ก ที่เอกชนนอกพื้นที่ซื้อไว้ในมือหมดแล้วกว่า 10 รายขึ้นไป ขนาดแปลง 400-500 ไร่ ต่างเสนอที่ดินเพื่อพัฒนาเมืองใหม่บริเวณบ้านโพธิ์ใกล้ท่าเรือบ้านโพธิ์

728x90-03 อย่างไรก็ตาม ก่อนซื้อที่ดินหรือลงทุนต้องตรวจสอบผังเมืองรวมจังหวัดก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเดือดร้อนได้ เพราะปัจจุบันสุญญากาศตามมาตรา 44 รอผังเมืองใหม่ประกาศออกมา

นางณัฏฐนันท์ คุณาจิระกุล นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดระยอง กล่าวว่าราคาที่ดินยังขยับต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวสถานีรถไฟความเร็วสูงที่คาดว่า จะอยู่บนทางหลวงหมายเลข 36ราคาบอกขาย 15-20 ล้านบาทต่อไร่ แต่ขายจริงอาจอยู่ที่ 10 ล้านบาท ต่อไร่ จากเดิมราคา 5 ล้านบาทต่อไร่ ก่อนมีกระแสอีอีซีและขณะนี้ยังมีนักลงทุนเข้าพื้นที่ต่อเนื่อง มองหาที่ดินแปลงใหญ่ เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการหาซื้อพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการเสร็จแล้ว เพื่อขยายโรงงานเพิ่มเติมบริเวณอำเภอปลวกแดงและมาบตาพุด ส่งผลให้ราคาที่ดินขึ้นไปอยู่ที่ 2-3 ล้านบาทต่อไร่ จากเดิมไร่ละ 1 ล้านบาท แต่ราคาที่ดินเพื่อลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรม ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อไร่

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรีสะท้อนว่า ราคาที่ดินทำเลรถไฟความเร็วสูง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ก่อสร้างตำแหน่งสถานีต่างๆ ทั้งศรีราชาหลังโรงเรียนอัสสัมชัญ และสถานีพัทยา ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมปัจจุบันพื้นที่พัฒนาเต็มหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นบ้านจัดสรร และล่าสุดบริษัทจัดสรรซื้อที่ดินบนถนนเลียบทางรถไฟ ราคา 8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบ้านจัดสรรส่วนที่ดินทำเลดี เลียบชายหาด ราคาทะลุไปที่ ตารางวาละ 2 แสนบาทแล้ว หรือไร่ละ 80 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9