ฟ้อง2พันล.อดีตบอร์ด โกงสหกรณ์สโมสรรถไฟ

17 ม.ค. 2561 | 03:49 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สั่งฟ้องอดีตบอร์ดสหกรณ์สโมสรรถไฟ ปล่อยกู้พวกพ้อง 2.2 พันล้าน พ้นกำหนดยังไม่สามารถใช้คืนหนี้ได้ ประเมินค่าหลักทรัพย์ที่ดิน 600 ไร่แก่งกระจานไม่ถึงพันล้าน

ความคืบหน้านายทะเบียนสหกรณ์ มีคำสั่งให้คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด(ชุดที่ 7-11 ) ชดใช้เงินคืนสหกรณ์ภายใน 10 มกราคมที่ผ่านมา จากการอนุมัติเงินกู้ให้กับสมาชิก 6 รายรวม 199 สัญญา วงเงิน2,285 ล้านบาท ขัดระเบียบสหกรณ์ที่ให้ได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ทั้ง 6 รายได้นำเงินกู้ไปซื้อที่ดินที่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนเกิดความเสียหายแต่เมื่อครบกำหนดไม่สามารถชำระหนี้คืนได้

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายทะเบียนจะพิจารณาใช้อำนาจมาตรา 21 ร้องทุกข์และฟ้องร้องดำเนินคดีแทนสหกรณ์ โดยภายในสัปดาห์นี้ จะฟ้องร้องคณะกรรมการชุดที่ 7,8,9,10 และ 11 ซึ่งบริหารในช่วงระหว่างปี 2555-2560 และจากการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่าการดำเนินการของคณะกรรมการทั้ง 5 ชุดที่มีนายบุญส่ง หงษ์ทองและนายนรินทร์ โพธิ์ศรีเป็นประธานกรรมการมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่ง  และได้มีการอนุมัติจ่ายเงินกู้พิเศษเพื่อเคหะสงเคราะห์ให้กับคณะกรรมการจำนวน 6 คน คือ

1.นายบุญส่ง หงษ์ทอง 2.นายวีรชัย ศรีสวัสดิ์ 3.นายบัญชา ช่วยประสิทธิ์ 4.นายประพันธ์ อำพันฉาย 5.นายนรินทร์ โพธิ์ศรีและ 6.นายปรีชาธนะไพรินทร์ หลายครั้งหลายคราวโดยได้นำเงินออกจากสหกรณ์ 2,279 ล้านบาทไปจัดซื้อที่ดิน 600 ไร่ในนามของตนเองไปก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรโครงการอาลีบาบาลีฟวิ่งเฮ้าส์และโครงการบุญสิตาตั้งอยู่ที่ตำบล/อำเภอแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งการนำเงินออกเข้าข่ายในลักษณะฟอกเงิน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 “เชื่อว่ามูลค่าราคาที่ดินตามราคาประเมินของกรมที่ดิน อาจเพียง 1 ใน 3 หรืออย่างดี 1,000 ล้านบาท กรมมั่นใจจะสามารถเอาผิดกับอดีตประธานบอร์ดและพวกได้ หลังได้เข้าตรวจพบตั้งแต่ปี 2559 และสั่งเร่งแก้ไขเต็มที่ นอกจากนี้จะใช้อำนาจตามกฎหมาย สั่งปลดคณะกรรมการชุดปัจจุบัน เนื่องจากไม่ทำการใดๆ เพื่อเอาผิดกับคณะกรรมการชุดเก่าหรือตามหนี้คืนและตั้งคณะกรรมการรักษาการเพื่อเรียกเงินคืนสหกรณ์จนกว่าจะครบ”

นายวิศิษฐ์ กล่าวถึงสภาพคล่องของสหกรณ์สโมสรรถไฟว่า ปัจจุบันมีทุนดำเนินการ 4,400 ล้านบาท จำนวนนี้กว่า 2,000 ล้านบาทเป็นการปล่อยกู้ให้สมาชิก และอีกกว่า 2,200 ล้านบาทยังไม่สามารถเรียกคืนได้จากการปล่อยกู้ให้กับบอร์ดทั้ง 6 ราย แหล่งเงินส่วนใหญ่มาจากเงินฝากของสหกรณ์อื่นๆ รวม 20 แห่ง แห่งละ20- 100 ล้านบาท และถึงขณะนี้ยังไม่มีรายใดเรียกเงินฝากคืน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเงินฝากยังไม่ครบดีล ส่วนเงินฝากของสมาชิกได้ให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อน

ปัจจุบันกรมมีนโยบายเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายให้ครบภายใน 3 ปี ขณะนี้ตรวจสอบไปแล้ว 70% ที่เหลืออีก 30%จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยเป็นการตรวจสอบทุกๆ 3 เดือน

ด้านนายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กล่าวว่า การอนุมัติเงินกู้ของคณะกรรมการชุดที่ 7-11 พบมีความผิดปกติและเมื่อผู้ตรวจสอบบัญชีเอกชนเข้าไปตรวจ ขอเอกสารก็ได้รับไม่ครบถ้วน เช่นข้อมูลราคาประเมินที่ดินของกรมที่ดิน เพื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ดินที่ใช้เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกัน 600 ไร่ว่าคุ้มมูลหนี้หรือไม่ ก็ไม่สามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ ทำให้เชื่อว่ามูลค่าจริงจะตํ่ากว่า 2,200 ล้านบาทอยู่มาก ผู้สอบบัญชี จึงให้ความเห็นในลักษณะมีเงื่อนไข ขณะที่กรมตรวจสอบบัญชีเองเข้าไปตรวจพบเมื่อปี 2559 เมื่อพบว่าปล่อยกู้ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของสหกรณ์ฯ จึงได้แจ้งให้สหกรณ์ฯ ดำเนินการแก้ไข และแจ้งนายทะเบียน (กรมส่งเสริมสหกรณ์ ) ซึ่งมีคำสั่งในเวลาต่อมาให้ผู้กู้นำเงินมาชำระคืนภายในเวลากำหนดและฟ้องร้องตามลำดับ

728x90-03 “การเข้าไปตรวจบัญชีเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการสอบบัญชีกรมตรวจสอบบัญชีก็เสมือนเป็นคิวซีคือกำกับดูแลผู้สอบบัญชีเอกชนในสหกรณ์นั้นๆอีกต่อหนึ่ง โดยการเช็กและสุ่ม”

นายโอภาส ยังให้ความเห็นต่อกรณีภาครัฐมีนโยบายจะตั้ง “กองทุนคุ้มครองเงินฝากสำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่” หากผลักดันสำเร็จจะเป็นผลดีเพราะหากสหกรณ์เกิดปัญหาหรือขาดสภาพคล่อง อย่างน้อยสมาชิกก็จะได้รับเงินคืนแม้จะไม่เต็มทั้ง 100 % ก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9