สินค้าจีนขี่เอฟทีเอ ถล่มไทย-อาเซียน

17 ม.ค. 2561 | 03:00 น.
เอกชนจับตาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยเพิ่ม หลัง 1 ม.ค.61 เอฟทีเออาเซียน-จีน ลดภาษีเต็มรูปแบบ สินค้าอ่อนไหวกว่า 700 รายการ หั่นภาษีลงเหลือ 0-5%สรท.ชี้กระทบทางอ้อมส่งออกไทยไปอาเซียนเพิ่มอุณหภูมิแข่งเดือดจากแดนมังกร “ตู้เย็น” รับแข่งยาก สปีดสู่ตลาดบน “เหล็ก” ผวายิ่งทุบซํ้า พาณิชย์เฝ้าระวังใกล้ชิด

จากที่ไทยต้องลดภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มอ่อนไหว(SL)ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน(ACFTA) กว่า 700 รายการลงเป็น 0-5% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะมีผลให้สินค้าจากจีนในกลุ่มที่ได้รับการลดภาษีจะส่งมาจำหน่ายในไทยและในอาเซียนมากขึ้นนั้น

[caption id="attachment_249829" align="aligncenter" width="503"] วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)[/caption]

++สินค้าจีนบุกระลอกใหม่
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สินค้าจีนจะส่งมาจำหน่ายในไทย รวมถึงประเทศอาเซียนอื่นๆ มากขึ้น ทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้าจีน ที่มีต้นทุนการผลิตที่ตํ่ากว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดกลุ่ม CLMV ที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อกำลังขยายตัวสูง ขณะที่ศักยภาพการผลิตสินค้าจีน ณ ปัจจุบันมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดด โดยมีการใช้เครื่อง จักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่เชื่อมโยงกับระบบดิจิตอล ทำให้ผลิตสินค้าได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และยังมีระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับอาเซียนทั้งทางบก นํ้า และอากาศทำให้การขนส่งสินค้าเข้ามามีความรวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้สินค้าอ่อนไหวที่มีการลดภาษีลงภายใต้ ACFTA ในปีนี้ที่สินค้าจีนมีโอกาสส่งเข้ามาขายในไทยเพิ่มขึ้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่เคยเสียภาษีนำเข้า 10-20% จะลดเหลือ 5% เช่น กระดาษ กระสอบ รองเท้า กระเบื้อง แป้งข้าวสาลี หินอ่อน ยางรถยนต์ เป็นต้น 2.กลุ่มสินค้าที่เคยเสียภาษีนำเข้าตํ่ากว่า 5% จะลดเป็น 0% เช่นรถยนต์นั่งไฟฟ้า(EV), อุปกรณ์ส่วนควบคุมและอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่และเครื่องอัดประจุไฟฟ้า, ตู้เย็น ตู้แช่, เครื่องรับโทรทัศน์, เหล็ก, เครื่องสำรองไฟฟ้า, ส่วนประกอบของเครื่องดูดฝุ่น และแผงวงจรไฟฟ้าอื่นๆ (ไม่นับรวมรถเมล์ไฟฟ้าที่ยังคงเสียภาษีนำเข้า 30%)

“ในส่วนของรถยนต์นั่งไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ไทยลดภาษีนำเข้าให้จีนลงเป็น 0% แล้ว หากในอนาคตสินค้าจากจีนได้รับการพัฒนาให้มีต้นทุนที่ถูกลง และไทยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จ สามารถทดแทนรถยนต์ที่ใช้นํ้ามัน หรือรถไฮบริดได้ รถอีวีจากจีนอาจจะทะลักเข้ามาตีตลาดในไทย และอาจทำให้ไทยสูญเสียเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาสร้างฐานผลิต เรื่องนี้ทางออกหนึ่งเพื่อลดผลกระทบภาครัฐอาจมีการกำหนดมาตรฐานรถอีวีนำเข้าให้มีมาตรฐานที่สูง และบวกค่าทำลายรถที่เลิกใช้งานแล้วที่จะเป็นขยะพิษในอนาคต เป็นต้น”

++ตู้เย็นหนีสู่ตลาดบน
นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลดภาษีสินค้าตู้เย็นลงเหลือ 0% จะเป็นการเปิดทางให้มีการนำเข้าสินค้าระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนี้ได้หารือกันมาเป็นระยะ และก็ได้ประวิงเวลามานานที่สุดแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการผลิตตู้เย็นก็ได้เตรียมพร้อมที่จะรับมือมาหลายปีแล้ว ดังนั้นขีดความสามารถในการแข่งขัน ถ้าสู้กับจีนไม่ได้ก็ต้องหนีไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตตู้เย็นและตู้แช่เพื่อการส่งออกที่มีขนาดใหญ่ ส่งขายไปทั่วโลกโดยเฉพาะตลาด ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลางและอาเซียน

++เหล็กร้องไม่มีFTAก็หนัก
นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่า เพดานภาษีเหล็กนำเข้ามีน้อยพิกัดมากที่อัตราภาษีนำเข้าจะเป็น 0% โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน ยังมีกำแพงภาษีอากรนำเข้า 5% และมีมาตรการปกป้อง เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) ที่ผ่านมาการนำเข้าเหล็กจากจีนนั้น แม้ไม่มีกรอบข้อตกลงใดๆ ก็มีการนำเข้าเหล็กจากจีนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จนผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เพียงแต่ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2560 จนถึงปัจจุบันเหล็กนำเข้าจากจีนมายังไทยและอาเซียนลดลง ทำให้ราคาเหล็กกลับมาดีดตัวดีขึ้น ผลจากก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนสั่งลดการผลิตเหล็กที่ไม่มีคุณภาพที่สร้างปัญหามลพิษในประเทศจีนลงราว 100 ล้านตันต่อปี

728x90-03 ++พาณิชย์จับตาใกล้ชิด
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าอยากให้มองการลดภาษีเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไปจีน และนำเข้าสินค้าที่จะสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบไปพัฒนาต่อยอดได้ อย่างไรก็ดีหากการลดภาษีนำเข้ามีผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ และเกิดความเสียหายสามารถปรึกษากระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าต่างประเทศ) เรื่องการใช้มาตรการ เอดี และมาตรการต่อต้านการอุดหนุน (CVD) ตลอดจนมาตรการปกป้อง (safeguards) ได้ ซึ่งเรื่องนี้กรม จะหารือกับภาคเอกชนเป็นระยะ เพื่อติดตามผลที่เกิดขึ้นจากการเปิดตลาด

ขณะที่ข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 มูลค่าของรายการสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจาก ACFTA อยู่ที่ 2.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการใช้สิทธิจริงอยู่ที่ 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเพียง 62% เท่านั้น โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกภายใต้สิทธิ ACFTA สูง 7 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ, มันสำปะหลัง, ของผสมอะโรแมติก ไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ, ทุเรียน, โพลิเมอร์ของเอทิลีน อื่นๆ , แป้งทำจากมันสำปะหลัง และพาราไซลีน เรื่องนี้อยากให้ใช้สิทธิประโยชน์กันมากๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9