‘โบ๊ทลากูน ยอชต์ติ้ง’ รุกขยายธุรกิจชิงตลาดหมื่นล้าน

15 ม.ค. 2561 | 23:15 น.
การส่งเสริมให้ไทยเป็นมารีน่า ฮับในภูมิภาคนี้ของรัฐบาล ประกอบกับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวทางทะเล และการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ที่สร้างรายได้เข้าประเทศร่วมหมื่นล้านบาท ส่งผลให้ โบ๊ทลากูน ยอชต์ติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเรือยอชต์ รับลักชัวรีที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในไทย ซึ่งก่อตั้งมากว่า 23 ปี มองการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวที่เกิดขึ้น อ่านได้จากสัมภาษณ์นายวริศ ยงสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โบ๊ทลากูน ยอชต์ติ้ง จำกัด

++ดันรายได้โต 20%
นายวริศ ฉายภาพธุรกิจว่า นอกจากโบ๊ทลากูน ยอชต์ติ้ง จะดำเนินธุรกิจในไทยแล้ว เรายังได้ขยายกิจการไปเป็นตัวแทนจำหน่ายเรือยอชต์และซูเปอร์ยอชต์ แบรนด์ดังระดับโลก อาทิ Princess, Jeanneau, Prestige, Wider ในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมัลดีฟส์ ทำให้ปัจจุบันบริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเรือยอชต์ ที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งการที่เราขยายการลงทุนไปเปิดสาขาในต่างประเทศ เป็นเพราะการท่องเที่ยวทางเรือ คนซื้อก็มีทั้งที่อยู่ในไทยและต่างประเทศ ที่ซื้อเรือมาก็เดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ ข้ามกันไปมาได้

[caption id="attachment_249678" align="aligncenter" width="503"] วริศ ยงสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โบ๊ทลากูน ยอชต์ติ้ง จำกัด วริศ ยงสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โบ๊ทลากูน ยอชต์ติ้ง จำกัด[/caption]

โดยเรามีรายได้ในภูมิภาคนี้อยู่ที่ราว 40-45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ยมีการเติบโตของรายได้อยู่ที่ราว 10-15% ต่อปี แต่ในปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตของรายได้อยู่ที่ราว 20% เนื่องจากคนนิยมซื้อเรือยอชต์เพิ่มขึ้น เพราะต้องการการเดินทางทางทะเลที่เป็นส่วนตัว จะไปเที่ยวที่ใดเมื่อไหร่ก็ได้ สามารถเข้าถึงหาดและทะเลสวยๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด และมีเรื่องของเชิงกีฬาด้วย รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ที่ราว 6 พันดอลลาร์สหรัฐฯ(เกือบ 2 แสนบาทต่อคน) และจากสถิติของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อหัวเริ่มเข้ามาใกล้ 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนคนที่ซื้อเรือยอชต์จะเริ่มบูม

++ชู 5 บริการครบวงจร
ธุรกิจของเราจัดว่ามีการให้บริการที่ครบวงจร ซึ่งหลักๆ มี 5 บริการ ได้แก่ 1.การจำหน่ายเรือยอชต์ลำใหม่ (มือหนึ่ง) 2.จำหน่ายเรือยอชต์มือสอง 3. การเช่าเรือยอชต์ท่องเที่ยว 4.การบำรุงรักษาเรือและ 5.งานบริการหลังการขาย ภายใต้ทีมงานที่มีประสบการณ์กว่า 80 คน และวิศวกรชำนาญการชาวต่างชาติ

ดังนั้นบริษัทจึงเน้นลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์ยกเรือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดทำศูนย์ซ่อมบำรุงเรือยอชต์และบริการหลังการขายที่ครบครันที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนเนื้อที่กว่า 80 ไร่ มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท และมีมารีน่าขนาดใหญ่บนพื้นที่ 500 ไร่ ภายใต้ชื่อ “โบ๊ท ลากูน ภูเก็ต” ซึ่งจอดเรือยอชต์ทั้งบนบกและในนํ้าได้ 350 ลำ ทั้งล่าสุดเรายังได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับอู่ซ่อมหรือสร้างเรือ ทำให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และจูงใจให้เกิดการเดินทางมาซ่อมบำรุงเรือที่ไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีมารีน่า ที่จ.กระบี่ ภายใต้ชื่อ “กระบี่ โบ๊ท ลากูน” รองรับเรือยอชต์ได้ 150 ลำ โดยในส่วนของมารีน่าที่ภูเก็ตและกระบี่ เรายังมีพื้นที่ที่สามารถขยายที่จอดเรือได้เพิ่มขึ้น หากมีความต้องการในการจอดเรือจากลูกค้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การให้บริการใน 5 ด้านของบริษัทกว่า 70-75% เป็นรายได้จากการจำหน่ายเรือยอชต์ มือหนึ่ง ซึ่งเรามีเรือยอชต์ทั้งมือหนึ่งและมือสอง จำหน่ายราคาตั้งแต่ 5 ล้าน-4 พันล้านบาท เฉลี่ยมีการซื้อขายเรือกว่า 30 ลำต่อปี ที่ผ่านมาขายไปแล้วกว่า 200 ลำ ที่ลูกค้าใช้งานอยู่ทั่วภูมิภาคนี้

ในอดีตกว่า 80% ของคนซื้อเรือยอชต์จะเป็นชาวต่างชาติ แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าคนไทยมีความสนใจซื้อเรือยอชต์เพิ่มขึ้น 30-35% ส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นเรือยอชต์ของนักธุรกิจไทย ที่เหลือเป็นการซื้อของคนเกษียณที่ซื้อเรือยอชต์เพื่อพักผ่อนท่องเที่ยว ซึ่งเรือยอชต์ก็เป็นหนึ่งในเครื่องแสดงสถานะทางสังคมเช่นกัน

mp22-3331-a ++เปิดโมเดลยอชต์รุ่นใหม่
รวมทั้งเรายังจะนำเรือยอชต์โมเดลใหม่ของโลกเข้ามาเปิดตัวครั้งแรกในไทยและเอเชียอีก 9 ลำ มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้าเรือยอชต์ครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่บางลำก็มีออร์เดอร์เข้ามาแล้ว

ประกอบกับเจ้าของเรือยอชต์ก็ยังนำมาปล่อยเช่าได้ด้วย ซึ่งเราก็มีบริการที่ดูแลในเรื่องนี้ให้ รวมถึงรัฐบาลยังมีนโยบายให้เจ้าของซูเปอร์ยอชต์ (เรือขนาดใหญ่ตั้งแต่ 30 เมตร) ปล่อยเช่าได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี และหากในช่วง 3 ปีนี้ ไทยหวังจะผลักดันให้มีเรือยอชต์เข้ามาเพิ่ม 100-200 ลำ ก็จะสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประเทศได้ถึง 200-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 7 พัน-1.4 หมื่นล้านบาท

728x90-03 อีกทั้งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังดูในเรื่องของวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวทางเรือ กัปตันเรือเหล่านี้ ที่จะขยายให้อยู่ยาวนาน ไม่ใช่เพียงแค่ 30 วันเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะการพักเฉลี่ยสำหรับนักท่องเที่ยวทางเรือจะใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 60 วันต่อทริป และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงเฉลี่ยไม่ตํ่ากว่า 1 แสนบาทต่อคน รวมถึงพิจารณาเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งเสริมธุรกิจนี้ รวมถึงการส่งเสริมการจัดงานแสดงเรือยอชต์ในไทยทั้งของเอกชนและไทยแลนด์ ยอชต์ โชว์ ก็จะส่งผลให้ภาพรวมในตลาดนี้โตเฉลี่ย 15-20%

ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจนี้ คู่แข่งของเรา อย่างมาเลเซีย ก็กำลังเร่งพัฒนามารีน่าให้มีความครบวงจร และอยู่ในระดับโลก ส่วนทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ ก็ใช้จุดเด่นในเรื่องของเมืองปลอดภาษี มาดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ด้วยจุดเด่นของไทย ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามหลายแห่งทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน การมีไฟลต์บินตรงจากสิงคโปร์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ เข้ากระบี่ ทำให้กลุ่มคนต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงจากประเทศเหล่านี้ก็ต้องการที่จอดเรือ และเมื่อบินมาถึงสามารถนำเรือไปแล่นได้เลย ปัจจัยเหล่านี้สร้างความโดดเด่นที่จะทำให้ไทยเป็นจุดหมายที่สำคัญในธุรกิจนี้ได้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9