ทอง “ZARINA”ขยายแฟรนไชส์ 25 สาขาเล็งโกอินเตอร์ก่อนเข้าตลาดฯ

17 ม.ค. 2561 | 14:09 น.
ขึ้นชื่อว่า “ทอง” สมัยก่อนใครๆก็อยากครอบครองเป็นเจ้าของ ใครสวมใส่ทองเส้นใหญ่ก็บ่งบอกได้ถึงฐานะ ทำให้คนนิยมซื้อเป็นเครื่องประดับ ต่างกับยุคสมัยนี้ นิยมซื้อทองเพื่อเก็บออมมากขึ้น และตอนนี้ราคาทองคำแท่ง ก็มีอัตราเติบโต สัญญาณ เหล่านี้คือปรากฏการณ์ตลาดทองในเมืองไทยนับจากนี้ไป

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ร้านทองที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี จะปรับตัวรับมืออย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด ปลอดภัยได้ ดร.โกสินธ์ ศรีศักดิ์สกุลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซาริน่า กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านทอง “ZARINA” เจเนอเรชันที่ 3 ผู้สานต่อธุรกิจครอบครัวที่ครํ่าหวอดอยู่กับ “ทอง” มานานร่วม 30 ปี ถ่ายทอดเส้นทางการปรับตัวรับกับสภาวะตลาดทองที่เปลี่ยนไป พร้อมการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อแต่งตัวเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้านี้

ดร.โกสินธ์ ย้อนปูมหลังให้ “ฐานเศรษฐกิจ” เห็นภาพว่า ครอบครัวทำธุรกิจทองรูปพรรณมาตลอด 30 ปี เริ่มต้นจากที่พ่อและญาติๆ รับซื้อทอง และมาเปิดร้านทองจนถึงปี 2561 ก็จะครบ 30 ปีเต็มในธุรกิจนี้

[caption id="attachment_249640" align="aligncenter" width="335"] ดร.โกสินธ์ ศรีศักดิ์สกุลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซาริน่า กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดร.โกสินธ์ ศรีศักดิ์สกุลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซาริน่า กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)[/caption]

**สู่เจเนอเรชัน 3 ที่ท้าทาย
ล่าสุดธุรกิจร้านทองตกอยู่ในเจเนอเรชัน 3 นับเป็นการบริหารร้านทองที่มีความท้าทายมาก หากเทียบกับอดีต เพราะปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนไม่เข้าร้านทอง จึงเป็นปัญหากับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ก็จำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนารูปแบบร้านทองใหม่ ตั้งแต่การรีแบรนด์โลโกไปยังการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์

“จากที่เป็นธุรกิจครอบครัว การส่งต่อโนว์ฮาวจะส่งกันเฉพาะบุคคลในครอบครัว คนข้างนอกจะไม่สามารถเข้ามาสัมผัสได้เลย ซึ่งในความเป็นจริงธุรกิจร้านทอง คนอยากเข้ามาสัมผัส แต่การจะเข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องผ่านกรอบความคิดของคนเดิมๆ ที่ไม่พยายามถ่ายทอดความคิดหรือองค์ความรู้ให้กับคนใหม่ที่จะเข้ามา เพราะกลัวการแข่งขัน ซึ่งตรงนี้เมื่อไปกลัวการแข่งขันก็ยิ่งทำให้การพัฒนามีข้อจำกัด”

ดังนั้นถ้าเราจะอยู่ในธุรกิจนี้และเพื่อความอยู่รอด ก็จะต้องปรับตัว เริ่มตั้งแต่การรีแบรนด์ใหม่ ซึ่งเดิมเราชื่อร้านทอง “เนรมิต” ก็มาเปลี่ยนเป็นร้านทอง “ZARINA” และแปรสภาพมาเป็นบริษัทจำกัดมหาชน รวมถึงการพัฒนาทองรูปพรรณให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยมีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 2563

TP13-3331-6A **เตรียมพร้อมเข้าตลาดฯ
เมื่อมีการปรับตัว การนำองค์ความรู้ของตัวเองมาขายให้กับผู้ประกอบการที่สนใจในธุรกิจทองอยู่แล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องดี และสามารถต่อยอดในธุรกิจได้ จากที่เห็นอยู่ว่า ร้านทองจะอยู่ในรูปแบบเดิมๆไม่ปรับตัว ไม่มีเทคโนโลยี ร้านทอง “ZARINA” จึงปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความง่ายกับคนที่สนใจธุรกิจจริงๆ และสามารถต่อยอดในธุรกิจได้จากที่เราปรับตัว โดยขยายในรูปของแฟรนไชส์ มากขึ้น (ดูตารางการเปลี่ยนแปลงปี 2561) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

“เรากำลังแต่งตัวเข้าตลาดฯ จำเป็นต้องปรับตัว ในเบื้องต้นบริษัทจดทะเบียนอยู่ 250 ล้านบาท ในเรื่องของค่าใช้จ่ายหรือเป้าหมายที่วางไว้ เราประเมินได้ว่า ก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีอัตราการเติบโตด้านยอดขายสินค้าและธุรกิจบริการจาก 170-200 ล้านบาทในปี 2559 จะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทในปี 2563 และ ต่อไปอัตราการเติบโตของเราจะมาจากการขยายแฟรนไชส์ เพราะการที่บริษัทจะลงทุนต้องเกิดจากการมีแฟรนไชส์ก่อน”

สำหรับตลาดทองรูปพรรณในประเทศ เมื่อดูจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปคือ จากเดิมคนนิยมซื้อเป็นเครื่องประดับ แต่ตอนนี้นิยมซื้อเพื่อเก็บออมมากขึ้น และตอนนี้ราคาทองคำแท่งมีอัตราเติบโต 60% ถ้าเทียบย้อนหลังไป 5 ปี คนหันมาซื้อเก็บออมมากขึ้น ส่วนอีก 40% เป็นทองรูปพรรณ คนรุ่นใหม่ต่อไปก็ซื้อทองเพื่อเก็บออมเพื่อการลงทุนมากกว่า ไม่ได้ซื้อเพื่อใส่เหมือนในอดีต

TP13-3331-4A **เล็งโกอินเตอร์สปป.ลาว
ส่วนฐานลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งร้านทอง “ZARINA” จะมีฐานลูกค้าเป็นแรงงานเมียนมา ลาว กัมพูชา ที่มาใช้บริการก็เติบโตอย่างน่าพอใจ เพราะส่วนใหญ่ซื้อสินค้าไปเพื่อบริโภคจริงๆ เพราะชอบใส่เครื่องประดับ กลุ่มนี้จะมีการเติบโตที่ดี ยกตัวอย่าง คนลาว จะมีศักยภาพการซื้อสูงกว่าเมียนมา กัมพูชา ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่เราจะขยายสาขาไปที่สปป.ลาวก่อน เพราะน่าจะมีโอกาสเติบโตได้ดี ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้เพิ่งไปเปิดสาขาร้านทองที่จังหวัดอุดรธานีเป็นการชิมลางก่อน เพราะอยู่ชายแดนติดกับสปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ก็ทำแบรนด์ประชา สัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆไปยังสปป.ลาวด้วย โดยเป็นพันธมิตรด้านประชาสัมพันธ์กับบริษัท บิ๊กบลู เอเจนซี่ จำกัด ช่วยขยายการรับรู้ไปสู่กลุ่มลูกค้าตลอดจนพาร์ตเนอร์ที่สนใจธุรกิจนี้ ซึ่งสาขาที่อุดรจะเป็นการพิสูจน์ว่า ควรเข้าไปขยายสาขาในสปป.ลาวหรือไม่ และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ถึงการลงทุนที่เวียงจันทน์ ควบ คู่ไปด้วย โดยเฉพาะข้อกฎหมายต่างๆ ในลาว ซึ่งมีความแตกต่างจากไทยมาก โดยการเข้าไปสปป.ลาวหลังจากที่ศึกษาข้อกฎหมายแล้วก็ต้องดูว่าการไปลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ทางสปป.ลาวเปิดกว้างแค่ไหน หรือจะต้องลงทุนในลักษณะร่วมทุนกับผู้ประกอบการลาว หรือลงทุนเองได้ทั้งหมด หรือเข้าไปในลักษณะขายแฟรนไชส์โดยนักลงทุนฝั่งลาวสนใจเข้ามาซื้อแฟรนไชส์

TP13-3331-5A **มีความเสี่ยงราคาทองผันผวน
เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบ โตของราคาทองคำเคยโต 300-400% ราคาเติบโตไปในทิศทางที่ต่อเนื่อง ราคาไม่มีลด เพราะทองคำมีจำกัด การที่จะบริหารความเสี่ยงหรือการที่จะป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกนั้นมันเป็นเรื่องที่ป้องกันยาก แต่เรามองในแง่อัตราราคาทองคำที่ผ่านมา เราก็มองเห็นว่า ผู้ประกอบการมีโอกาสขาดทุนจากราคาทองคำที่ลงค่อนข้างยาก เพราะอัตรามัน โต ราคาลงค่อนข้างยาก และใครที่ทำธุรกิจร้านทอง ต้องเข้าใจก่อนว่า ราคาทองมีการสวิงไปตามแรงของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้นความเสี่ยงที่มองน่าจะเป็นเรื่องความผันผวนของราคา เพราะเราไม่ได้ขายเฉพาะตัวเนื้อทองอย่างเดียว แต่มีค่าบำเหน็จ ค่าแรงอยู่ด้วย ตรงนี้คือกำไรของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตามร้านทอง “ZARINA” แม้จะเป็นร้านค้าทอง แต่ก็ไม่ได้มีร้านค้าส่ง ไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง ยังใช้พาร์ตเนอร์ หรือพันธมิตรจากเยาวราชอยู่หลายราย แต่ละรายก็ผลิตทองคำได้หลากหลายลวดลาย

สำหรับเหตุผลที่ไม่ผันตัวเองไปสู่ผู้ผลิตและร้านค้าส่งทอง เพราะมองว่า การที่เข้ามาในธุรกิจทองก็ไม่ต้องการที่จะไปเป็นคู่แข่งใครในการผลิตทองเสียเอง อยากจะรักษาพันธมิตรทางการค้าที่ดีต่อกันในระยะยาวแบบนี้ตลอดไป!

TP13-3331-3A สัมภาษณ์โดย : งามตา สืบเชื้อวงค์
ภาพ : ประเสริฐ ขวัญมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9