ปีใหม่-เรื่องเก่า

16 ม.ค. 2561 | 23:16 น.
tp8-3331-1c หลายสำนักทำนายเศรษฐกิจไทยปี 2561 ไปในทางที่ดีขึ้นกว่าปี 2560 คือ 4-4.2% (SCB EIC/TMB Analytics) ซึ่งเป็นไปตามไอเอ็มเอฟที่ได้ทำนายไว้ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจโลกจะโต 3.7% ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะโต 2.9% และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 4.6% โดยสรุปแล้วตัวขับเคลื่อนทุกตัว (ของไทย)ยกเว้นการบริโภคในประเทศ (Private Consumption) ยังไม่โตเนื่องจากราคาผลิตผลทางการเกษตรที่ทำนายว่าจะยังตํ่าอยู่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขต่อไป

ทั้งนี้ในระยะสั้นก็คงไม่สามารถเลี่ยงมาตรการอุดหนุนที่แยกได้หลายวิธีการ เช่น ประกันรายได้ขั้นตํ่าหรือประกันราคาขั้นตํ่าผลผลิตให้เกษตรกร ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างการผลิตให้เกษตรกรเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ได้ระดับโลก เช่น ระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice)และเหมาะสมเป็นอย่างตํ่า

ด้วยกลยุทธ์นี้รัฐบาลจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นพร้อมๆกับยกระดับความปลอดภัยและจะรวมถึงการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม สินค้าที่ได้มาตรฐานเหล่านี้บางส่วนจะเป็นวัตถุดิบให้ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ต่อไปเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเป็นวัตถุดิบของตัวสัตว์ไปจนถึงอาหาร เป็นต้น

หากเราสามารถพัฒนาระดับการผลิตในแต่ละข้อต่อของแต่ละตัวสินค้าแล้วผลิตภัณฑ์สุดท้ายก็จะเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกต่อไป

728x90-03 ปัญหาอื่นที่จะเป็นอุปสรรคและต้องได้รับการแก้ไขในปีนี้คือ 1) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แม้ว่าสหรัฐฯจะปรับอันดับไทยขึ้นไปแล้วก็ตามแต่หากไม่ระวังและดูแลให้ดีต่อเนื่องแล้วก็อาจจะถูกปรับลดลงมาอีกก็ได้ 2) สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ซึ่งยังเป็นปัญหาในบางอุตสาหกรรมที่กระทบ 2 ทางคือ ตัวแรงงานที่ไม่พอแล้วยังเกี่ยวกับค่าจ้างด้วย ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ก็ต้องระวังไม่ให้กระทบกับการจ้างงานคนไทยด้วย ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพแรงงานควบคู่กับการใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์จึงเป็น 2 สิ่งที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆกัน

3) อัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาท ซึ่งแข็งขึ้นประมาณ 8% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปี 2560 ก็คงจะเป็นความเสี่ยงทั้งภาคส่งออกและนำเข้าต่อไปว่าจะแข็งขึ้นไปอีกหรือไม่ เนื่องจากอำนาจต่อรองทางการค้าของเราไม่มากพอที่จะกำหนดราคาขายและซื้อได้ ดังนั้นไม่ว่าอัตราเงินบาทจะเหวี่ยงไปทางไหนเราก็ไม่ได้ผลประโยชน์ผมจึงเสนอให้ผู้ประกอบการทำงานกับธนาคารอย่างใกล้ชิดในการประกันความเสี่ยง

4) มาตรการทางการค้าเพิ่มเติมจากผู้ซื้อในสหรัฐฯและยุโรป เช่น เรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการการทุ่มตลาด เป็นต้น

5) การเมืองระหว่างประเทศจะยังเป็นความเสี่ยงต่อการค้าและการลงทุน เช่น ปัญหาระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ (แม้ว่าจะมีการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ไปแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถจะวางใจได้เพราะสหรัฐฯยังมีเป้าหมายให้เกาหลีเหนือยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ช้าไปแล้ว ดังนั้นความตึงเครียดก็จะยังมีอยู่ต่อไป) การเปลี่ยนทางการเมืองในตะวันออกกลาง เช่นปาเลสไตน์และอิสราเอล และการประท้วงในอิหร่านซึ่งจะเป็นเหตุให้ราคานํ้ามันสูงขึ้นและ/หรือท่าเรือสำคัญๆที่เป็นจุดที่เรือเดินสมุทรผ่าน

กลุ่มสุดท้ายที่เราต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิดคือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในโรงงานและโรงพยาบาล ธุรกิจซื้อ/ขาย On Line ที่จะกระทบกับบริษัทค้าปลีก การบริการเรียกรถรับจ้าง (TAXI) ผ่านโทรศัพท์มือถือจะได้รับความนิยมมากขึ้น การใช้ Application ในธุรกิจท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงในระบบการให้บริการของธนาคารผ่านระบบดิจิตอลที่เพิ่มขึ้น

และสุดท้ายผมก็ขอฝากให้ศึกษาเงินในอนาคตที่เรียกว่า Cryptocurrency หรือ Cybercurrency เช่น Bitcoin ด้วย แม้ว่ารัฐบาลไทยจะยังไม่รับรองแต่มันก็ได้เข้าสู่ระบบการค้าเงินและสินค้าในหลายประ
เทศแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9