ปฐมบทแห่งแผนทีไออีบี(6) รู้จัก เข้าใจ LNG

15 ม.ค. 2561 | 23:15 น.
>จากบทความ 5 ตอนแรกที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึงภาพรวมของการจัดทำ “แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (ปี 2558-2579) หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint : TIEB” ซึ่งได้มีการกล่าวถึงที่มาที่ไปการเกิดขึ้นของแผน TIEB ดังกล่าว กลยุทธ์ที่เป็นก้าวสำคัญด้านพลังงาน (Bold Move) ภายใต้แผน TIEB รวม ไปถึงเหตุผลหลักๆ ที่กระทรวงพลังงาน จำเป็นต้องกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) โดยเฉพาะทางเลือกของการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด กับความจำเป็นด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ และในตอนก่อนหน้านี้ ผมได้เริ่มเกริ่นถึงแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ว่ามีกลยุทธ์สำคัญๆ อย่างไรบ้าง

โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญภายใต้แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ที่ผมจะขอมาขยายความในตอนนี้ คือ แผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลว (Liquefied Natural Gas) หรือ LNG เพราะประเทศไทยน่าจะต้องพึ่งพิง LNG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ก่อนที่จะลงลึกไปถึงรายละเอียดต่างๆ นั้น ผมอยากเริ่มต้นให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน ได้รู้จักและเข้าใจถึง LNG ในประเด็นต่างๆ อาทิ เหตุใด LNG จึงเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่สำคัญ รับทราบถึงคุณสมบัติต่างๆ ของ LNG ลักษณะของสัญญาซื้อขายจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมไปถึงสถานการณ์ของตลาด LNG ในโลก

[caption id="attachment_249586" align="aligncenter" width="503"] (ภาพเรือขนส่ง LNG ที่ใช้ในปัจจุบัน 2 ชนิดแบบผนังกลม และแบบเมมเบรน) (ภาพเรือขนส่ง LNG ที่ใช้ในปัจจุบัน 2 ชนิดแบบผนังกลม และแบบเมมเบรน)[/caption]

เหตุใด ประเทศไทยต้องเลือกใช้ LNG ?

หากพิจารณาถึงรายละเอียด ภายใต้แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) พบว่า ความจำเป็นในการบริหารทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในประเทศ ยังถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของ แผนก๊าซ จากภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซในประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (mmscfd) และคาดว่าในช่วงปลายแผนฯ หรือในปี 2579 จะใช้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่หากพิจารณาถึงด้านการจัดหาก๊าซ จากข้อมูลพบว่าแหล่งผลิตสำคัญในประเทศบริเวณอ่าวไทยนั้น ปริมาณการผลิตจะเริ่มมีระดับลดลง สวนทางกันกับปริมาณการใช้ คือคาดว่าจะเริ่มทยอยผลิตได้ลดลง แม้จะมีการบริหารจัดการเต็มที่แล้ว หรือถ้าพูดให้ชัดนะครับ “ก๊าซในอ่าวไทยมีแนวโน้มปริมาณการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG มากขึ้น”

[caption id="attachment_249585" align="aligncenter" width="503"] (ภาพความต้องการใช้ก๊าซและความสามารถในการจัดหาก๊าซของประเทศ) (ภาพความต้องการใช้ก๊าซและความสามารถในการจัดหาก๊าซของประเทศ)[/caption]

นอกจากนี้ เหตุผลหลักที่ต้องวางแผนการนำเข้า LNG เนื่องจากรูปแบบการขนส่งจนถึงสัญญาซื้อขายจะเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยในอดีตจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นหลักและขนส่งผ่านท่อส่งก๊าซเท่านั้น ซึ่งรวมถึงการรับก๊าซจากเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซียและเมียนมาก็จะผ่านระบบท่อขนส่งก๊าซ แต่รูปแบบของการนำเข้า LNG จะต้องขนมาทางเรือซึ่งต่างกัน หากจะลงทุนติดตั้งท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผู้ผลิตจากต่างประเทศ เช่น จากประเทศ กาต้าร์มายังประเทศไทยนั้น เป็น การลงทุนที่มหาศาลและไม่น่ามีความเป็นไปได้

ดังนั้น LNG ซึ่งสามารถขนส่งทางเรือได้ จึงเป็นคำตอบในแง่การจัดหาก๊าซให้เพียงพอกับ ความต้องการประเทศในอนาคต

ด้านคุณสมบัติของ LNG นั้น คือก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซมีเทน (C1) เป็นองค์ประกอบหลัก นำมาผ่านกระบวนการแปรสภาพให้กลายเป็นสถานะของ เหลว โดยลดอุณหภูมิตํ่าลงถึง-160 องศาเซลเซียส ผ่านกระบวน การ Liquefaction ซึ่งจากสถานะก๊าซที่ถูกความเย็นจัดจะกลายเป็นสถานะของเหลว มีปริมาตรลดลง 600 เท่า ทำให้สามารถบรรจุลงถังที่มีฉนวนเก็บความเย็นเพื่อจัดเก็บ และขนส่งทางเรือที่ออกแบบพิเศษมีฉนวนเก็บความเย็น รักษาอุณหภูมิของถังบรรจุ LNG ที่อุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียสนี้ได้

เมื่อเรือขนส่ง LNG เดินทางถึงสถานที่ปลายทาง จำเป็นต้องมีท่าเรือ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับโดยเฉพาะ รวมทั้งมีระบบแลกเปลี่ยนความร้อน หรือ Regasification ซึ่งจะทำ การแปรสภาพจากสถานะของ เหลว ให้กลับไปเป็นสถานะก๊าซ เพื่อส่งเข้าระบบท่อก๊าซต่อไปยังโรงไฟฟ้า และเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าต่อไป

นอกจากนี้ ในประเด็น ลักษณะของการซื้อขาย LNG ในอดีต สัญญาซื้อขาย จะมีผู้ซื้อ ผู้ขาย เพียงไม่กี่ราย โดยลักษณะการซื้อขายจะเป็นสัญญาระยะยาว 20 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการรับประกันความคุ้มค่าในการลงทุน และเป็นข้อตกลงสำหรับการ เสนอให้สถาบันทางการเงินพิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมเพื่อการลงทุนโครงการ Liquefaction เนื่องจากการลงทุนมีต้นทุนสูงในแต่ละขั้นตอนดังที่ได้กล่าวมา

โดยจากข้อมูลของสัญญาซื้อขาย LNG พบว่า เดิมในปี 2005 หรือเมื่อ 12 ปีก่อน มีประเทศที่นำเข้า LNG 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สเปน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา แต่ในปัจจุบัน พบว่ามีประเทศที่นำเข้า LNG สูงถึง 39 ประเทศ โดย LNG มาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติสำคัญๆ ที่เป็นโครงการแปรสภาพให้เป็น LNG ที่เกิดขึ้นมีปริมาณป้อนสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งจำนวนเรือขนส่ง LNG ที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ตลาดมีความหลากหลาย การปรับเปลี่ยนลักษณะสัญญาของ LNG ในปัจจุบัน ก็จะมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น โดยเกิดจากการพัฒนาของผู้ผลิต และผู้รับซื้อ ที่มีการพัฒนาร่วมกันต่อเนื่อง ช่วยให้สัญญา LNG คล่องตัวเพิ่มขึ้น และในปัจจุบัน สัญญาซื้อขาย LNG จะเป็นระยะยาวไม่เกิน 10 ปี เป็นต้น

ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan บทบาทของ LNG จะมีความ สำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วย ให้ประเทศไทยของเรา สามารถบริหารจัดการแหล่งเชื้อเพลิง สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอ มั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งในตอนต่อไป ผมจะได้กล่าวถึงสถานการณ์ของตลาด LNG ในโลก รวมทั้งสิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ ของการรองรับความต้อง การใช้ LNG ของประเทศ แผน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติที่สำคัญๆ เป็นต้น (รวมไปถึงในตอนต่อๆ ไป ผมจะได้เล่าถึงแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในรอบต่อไป ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพลังงาน)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9