จัดระเบียบ! ธุรกิจไทย-จีน

11 ม.ค. 2561 | 06:35 น.
 

บทบรรณาธิการ | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561

 

นโยบายเส้นทางสายไหมของจีน ทั้งทางบกและทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เปิดเกมรุกเข้าไปในหลายพื้นที่ ทั้งการลากเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงมาในอาเซียนเป็นส่วนหนึ่ง ด้านบนลากเส้นรถไฟเชื่อมโยงไปทางยุโรปขนทั้งคน ขนทั้งสินค้า  เรียกว่ายุทธศาสตร์ภายใต้ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เปิดเกมรุกเศรษฐกิจ การค้าที่จีนมีความถนัดและเชี่ยวชาญมาเป็นหลายร้อยปีอย่างเต็มกำลัง

 
เร็วๆนี้ไทยจะเปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนจีนอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ตามนโยบายสร้างระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)ที่เปิดต้อนรับนักลงทุนอย่างเต็มที่และหลากหลาย จากก่อนหน้านี้เปิดรับนักลงทุนญี่ปุ่นไปแล้ว การมารอบนี้จะเป็นขนทัพนักทุนจีนชุดใหญ่ ที่เข้ามาแสวงหาลู่ทางการลงทุนอย่างถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย  สอดคล้องต้องกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยจีนต้องการออกมาลงทุนและไทยเปิดรับเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15
นโยบายเปิดเกมรุกของจีนดังที่ว่า ส่งผลให้พ่อค้าจีนเดินชนกันวุ่นวายในไทย ในรูปแบบการจัดตั้งล้งผลไม้ ไล่ตั้งแต่ภาคตะวันออกทุกจังหวัด ภาคใต้แหล่งผลไม้ใหญ่จ.ชุมพร ถูกยึดครองเบ็ดเสร็จจากล้งจีน ขณะที่ภาคเหนือผลไม้ลำไยแถวจ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ ไม่นับรวมธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องจากการท่องเที่ยว ทั้งอาร์ทเมนท์เซอร์วิซ ทั้งร้านอาหารแทบอยู่ในมือจีนทั้งสิ้นไปแล้ว

 
จากล้งผลไม้ จีนรุกคืบเข้าสู่สินค้ายางพารา ทั้งจากความที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ ทำให้พ่อค้าจีนเดินกันขวักไขว่ในทั้งนครศรีธรรมราช ตรัง สุราษฎร์ธานี สงขลา รูปแบบคล้ายเหมือนกับล้งผลไม้ โดยเข้าทำสัญญากับเกษตรกรโดยตรงและกลุ่มสถาบันเกษตกร ในการซื้อยางล่วงหน้า ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูเหมือนจะรับรู้สัญญาณที่เกิดขึ้น ได้สั่งให้การยางแห่งประเทศไทยหรือ กยท.เข้าตรวจสอบเพื่อหาทางแก้ปัญหาซ้ำรอยล้งผลไม้ที่ถูกผูกขาดโดยจีนไปแล้ว

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์
อันที่จริงถ้าพ่อค้าจีนเข้ามาตามช่องทางการประกอบธุรกิจถูกต้อง ในรูปแบบเหมือนบริษัทใหญ่ๆของจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย มีการจ้างงาน มีระบบการเสียภาษี มีเงินลงทุนที่ถูกต้อง แต่การเข้ามาในรูปแบบอื่นก่อนผันไปทำธุรกิจหรือใช้นอมินีในการทำธุรกิจหวังเลี่ยงกฎหมาย ย่อมส่งผลกระทบต่อคนไทยในบางอาชีพ กรณีสินค้าเกษตรอาจดีขึ้นในช่วงแรก แต่ไม่มีหลักประกันหากยึดตลาดได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว จะมีการฮั้วกันกำหนดราคาหรือไม่ หน่วยงานราชการของไทยต้องพูดจาหารือกันอย่างจริงจัง ทั้งกระทรวงมหาดไทย เกษตรฯ พาณิชย์ แรงงาน กำหนดมาตรการที่เหมาะสมจัดระเบียบการทำธุรกิจ ก่อนจะสายเกินไป