ยื้อผ่าตัดสหกรณ์ ผวากฎใหม่ทำพัง

13 ม.ค. 2561 | 03:33 น.
อธิบดีสหกรณ์สั่งชะลอเกณฑ์กันสำรอง 100% กู้วนซํ้าออกไปไม่มีกำหนด เตรียมถกบอร์ดยืด-ผ่อนผันเกณฑ์การลงทุน 25 สหกรณ์ใหญ่ อ้างลงทุนกว่า 3 แสนล้าน กระทบวงกว้าง ต้องรอบคอบ

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มีนาคม 2560 เห็นชอบแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนที่มีขนาดสินทรัพย์ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท โดย 1 ในนั้นว่าด้วยเรื่องการ ลงทุนของสหกรณ์ ต้องไม่เกิน 10% ของส่วนทุน (ทุนเรือนหุ้นบวก ทุนสำรอง) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนผันการลงทุนของสหกรณ์ให้เป็นไม่เกิน 20% ของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรอง แต่สหกรณ์ไม่สามารถปฏิบัติตามได้

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีสัดส่วนการลงทุนเกิน 20% มี 25 แห่ง (ในจำนวน 134 แห่ง) เป็นวงเงินรวมราว 3 แสนล้านบาท หากจะบังคับใช้ในทันที จะส่งผลกระทบรุนแรงเพราะเป็นวงเงินก้อนใหญ่กรมจึงได้นัดหารือให้ครบทุกแห่ง ก่อนนำข้อมูลไปเจรจาเพื่อหาทาง ออกร่วมกับ ธปท.และคลังต่อไป

[caption id="attachment_246348" align="aligncenter" width="503"] นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ[/caption]

“ผมกำลังนัดกรรมการ/ผู้มีอำนาจของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 25 แห่งมาหารือว่าหากจะให้ลดสัดส่วนลงทุนลงมาเป็นไม่เกิน 20% ต้องใช้เวลากี่ปี หรือควรจะผ่อนผันให้อย่างไร เช่น ช่วงแรก อาจผ่อนผันให้ได้ลงทุนเกินเกณฑ์ไปก่อน แล้วค่อยๆ ขยับลงมา”

ปัจจุบันกฎกระทรวงยังไม่เคยกำหนดในเรื่องนี้ระบุเพียงว่า สหกรณ์จะลงทุนในหุ้นสามัญของรัฐวิสาหกิจได้ แต่ต้องไม่เกิน 5% หรือหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตไม่ตํ่ากว่า A- ทำให้สหกรณ์ไปลงทุนเกินเกณฑ์กำหนดอยู่มาก บางรายมากถึง 80% เป็น 100-200% ของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรองก็มี โดยส่วนหนึ่งมาจากนำเงินฝากของสมาชิกหรือกู้จากธนาคารมาลงทุนก็มี ซึ่ง ธปท.แสดงความกังวลว่า หากปล่อยให้สหกรณ์ลงทุนสูงถึง 80-100% ของส่วนทุนตามที่เรียกร้องกัน ก็จะผิดหลักการการจัดตั้งสหกรณ์กลายเป็นเรื่องการลงทุนภายนอกแทนที่จะดูแลสมาชิก โดยพบว่ามีการลงทุนเกินขอบเขต เช่น ลงทุนในตลาดทุน ปล่อยกู้ซํ้าซ้อนระหว่าง สหกรณ์ด้วยกัน หรือผิดประเภท เช่น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

“เรื่องเกณฑ์กำกับ การรีไฟแนนซ์หรือกู้วนซํ้า ที่มติครม.ให้สหกรณ์ต้องตั้งสำรองทั้ง 100% ในส่วนของเงินกู้วนซํ้าที่ตํ่ากว่า 1 ปีว่า ผมได้สั่งให้ชะลอไปก่อน เพราะพิจารณาแล้วว่ากระทบต่อสมาชิกมาก”

นายวีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด หรือ ชสอ. กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์ตั้งสำรอง 100% ในกรณีที่สหกรณ์ปล่อยกู้ให้สมาชิกวนซํ้าตํ่ากว่าปี (ปล่อยกู้ก้อนใหม่ขณะหนี้เดิมยังผ่อนไม่ครบปี) ให้ถือเป็นเอ็นพีแอลและต้องตั้งสำรอง เพราะไม่ต่างกับการผลักดันให้สมาชิกหันไปกู้เงินนอกระบบและแบกดอกเบี้ยแพงๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลกรมส่งเสริมสหกรณ์ จากการสำรวจสหกรณ์ออมทรัพย์ 933 แห่ง สมาชิกจำนวน 2.23 ล้านราย พบว่ามีการกู้วนซํ้าจำนวน 5 แสนราย คิดเป็น 23% โดยในจำนวน 95% ของการกู้วนซํ้า มักเกิดจากการกู้เงินสามัญ และจะเป็นการกู้รวมหนี้สัญญาเดิม ซึ่งสมาชิกมักจะกู้หลังจากส่งชำระหนี้ในระยะเวลา 3 เดือน โดยพบมากถึง 50% และกู้วนซํ้าภายใน 6 เดือน ถึง 36% ส่วนที่เหลือเป็นการกู้วนซํ้าในรอบ 2 เดือนและ 4 เดือน

ประธานกรรมการ ชสอ.กล่าวถึงเกณฑ์การดำรงสภาพคล่องที่สหกรณ์ออมทรัพย์ต้องดำรงไม่น้อยกว่า 3% ของหนี้สิน (เงินฝากบวกเงินกู้) ในรูปของเงินสดและเงินฝากธนาคาร 1% และ 2% เป็นพันธบัตร ล่าสุดธปท.ผ่อนผันให้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ สามารถนับเงินฝากที่ฝาก กับชสอ.เป็นการกันสำรองได้ทั้งจำนวนหรือทั้ง 3% ถือเป็นผลดีต่อชสอ.ปัจจุบันชสอ.มีสภาพคล่อง 8% และเป็นแหล่งเงินสำคัญในการปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์สมาชิกที่มีอยู่ 1,100 แห่ง โดยเฉพาะในสถาน การณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดกับสหกรณ์ค่อนข้างสูงจาก 4% เป็น 6-6.50%

“เราเคยให้เจ้าหน้าที่สำรวจ พบว่าสหกรณ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ แต่ละเดือนมีไม่ถึง 1% ฉะนั้นสภาพคล่องที่กันสำรองไว้มากก็ทำให้สหกรณ์ไปลงทุนไม่ได้ ได้แต่ไปฝากธนาคารพาณิชย์กินดอกเบี้ยถูกๆ ทำให้เสียรายได้ผมลองทำแล้ว พบมีไม่กี่แห่งที่มาถอนเกิน 0.5% จากที่กันสำรองดังนั้นของเดิมที่กฎกระทรวงวางเกณฑ์ไว้ที่ 1% ก็ดีอยู่แล้ว”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9