ธปท.ไฟเขียวผุดเกณฑ์P2Pกู้ยืมออนไลน์

13 ม.ค. 2561 | 04:48 น.
ธปท.ร่างเกณฑ์กู้ยืม เงินออนไลน์ ตัดตัวกลางปล่อยกู้ออกจากระบบสินเชื่อ คาดคลังไฟเขียวเร็วๆ นี้ ด้าน TMB เตรียมเปิดตัว Digital Lending ภายในปีนี้ รับการเงินยุคดิจิตอล ขณะที่ตลท.แจง บมจ.ขนาดใหญ่ ปล่อยกู้กันเองในกลุ่มอยู่แล้ว

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธปท.ได้ส่งร่างกรอบกติกาการปล่อยกู้แบบ Peer to Peer Lending (P2P) หรือ การกู้ยืมระหว่างบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาถึงหลักการและความเป็นไปได้ เพราะคลังต้องดูให้ครอบคลุมภาพใหญ่ถึงข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น คาดน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้

[caption id="attachment_208379" align="aligncenter" width="335"] นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา[/caption]

ทั้งนี้ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ P2P Lending Platform สนใจและเข้ามาหารือถึงความคืบหน้าการปล่อยกู้และการขออนุญาตดำเนินธุรกิจกับธปท.อย่างต่อเนื่อง หลักสิบราย แต่ต้องรอความชัดเจนจากคลังอีกที เพราะต้องยอมรับว่า การปล่อยกู้แบบ P2P Lending จะเกิดขึ้นได้ต้องดูถึงโครงสร้างพื้นฐานหรือแพลตฟอร์มการปล่อยกู้ระหว่างคนที่ต้องการสินเชื่อและผู้ลงทุนหรือผู้ปล่อยกู้ จะต้องไม่สะดุด หรือมีปัญหา รวมถึงการพิสูจน์ตัวตนด้วย

“ธปท.และกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน และเรายังทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรื่องการปล่อยกู้หรือระดมทุนแบบ Crowdfunding บนแพลต ฟอร์มด้วย”

ด้านนายรูว์ ไฮซแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย ทีเอ็มบีกล่าวว่าภายในปี 2561 ธนาคารจะเปิดตัว Digital Lending อย่างเป็นทางการ โดยจะมีทั้งสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิตอลที่จะพิจารณาตามความเสี่ยงของลูกค้า เพื่อให้สินเชื่อได้ถูกที่ ถูกเวลาและถูกคน โดยระยะแรกจะเริ่มจากกลุ่มลูกค้าที่อายุ 25-40 ปี และจะขยายในทุกช่องอายุ เพื่อต่อยอดตามความต้องการในแต่ละเซ็กเมนต์

“การให้บริการสินเชื่อออนไลน์ อาจต้องเริ่มจากลูกค้าเดิมที่มีธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารก่อน เพื่อให้เห็นความเสี่ยงและพฤติกรรมลูกค้า แต่ก็ต้องเพิ่มฐานลูกค้าใหม่เข้ามาในระบบด้วย เพื่อสร้างฐานข้อมูลลูกค้า ซึ่งอาจต้องร่วมมือระหว่างธนาคาร รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เช่น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ (เครดิตบูโร)”

[caption id="attachment_249103" align="aligncenter" width="377"] สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[/caption]

ขณะที่นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงาน ผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจมีการปล่อยกู้กันภายในกลุ่มกันเองอย่างเช่น ภายในกลุ่มปตท. กลุ่มบีทีเอส และการกู้ยืมของบุคคลที่รู้จักกัน ในอนาคตจะมีการปล่อยกู้บุคคลกับบุคคล ที่อาจจะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่จะทำได้ต้องรอการอนุญาตและหลักเกณฑ์จากธปท.ก่อน

“ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพิจารณาหลักเกณฑ์อยู่ แต่การปล่อยกู้โดยคนที่ไม่รู้จัก มีความยากในการประเมินความเสี่ยง” นายสันติกล่าว

ส่วนการดำเนินธุรกิจมียุคดิจิตอล นายสันติกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์มีฯแผนจัดตั้ง corporate Venture Capital หรือ ซีวีซีในรูปแบบกองทุน ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 1 พันล้านบาท โดยจะเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ และ เอสเอ็มอี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในธุรกิจที่ส่งเสริมกับการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) และบริษัทหลักทรัพย์(บล.)

“เป้าหมายแรกเราต้องการลงทุนสตาร์ตอัพ ที่มีอยู่ในประเทศก่อน แต่ก็ไม่ปิดกั้นในต่างประเทศ ตลาดจะต้องเป็นเจ้าภาพ เพราะ ถ้าหากให้ทุกคนลงทุนเอง ในการพัฒนาเทคโนโลยี ก็จะขาดประสิทธิภาพ” นายสันติกล่าว

คนในวงการตลาดทุน กล่าวว่าการปล่อยกู้ของบุคคลกับ บุคคลมีมานานแล้วนอกจากอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้วมีการวางหลักทรัพย์คํ้าประกัน เช่น หุ้น เพื่อนำเงินมาลงทุนในตลาดหลัก ทรัพย์และการทำธุรกิจเสริมสภาพคล่องในภาวะหาเงินกู้ยาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9