‘ธนชาต’แตะเบรกปิดสาขา

11 ม.ค. 2561 | 23:00 น.
ธนชาต แตะเบรกปิดสาขา ลงตัวที่ 520 แห่ง หลังเขย่า 3 ปี ทยอยควบรวม-โยกย้ายจนสมดุล คาดภายใน 2-3 ปีธุรกรรมสาขาฮวบเหลือ 20-30% สวนทางโมบายแบงกิ้งโตพุ่ง 50-60%

นายสนอง คุ้มนุช รองกรรมการผู้จัดการ สายเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวนโยบายทางด้านสาขาในปี 2561 ธนาคารจะให้ความสำคัญในเรื่องความสะดวกของลูกค้ามากขึ้น ภายหลังจากในช่วง 3 ปีก่อน ธนาคารมุ่งเน้นการปรับปรุงโยกย้ายสาขา หรือควบรวมสาขา จากที่มีอยู่กว่า 600 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 520 แห่ง ซึ่งถือเป็นระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน โดยในปีนี้ธนาคารจะยังคงจำนวนสาขาอยู่ในระดับดังกล่าว

[caption id="attachment_248983" align="aligncenter" width="335"] สนอง คุ้มนุช สนอง คุ้มนุช[/caption]

ทั้งนี้จำนวนสาขาที่ปรับลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรม ที่สาขาปรับลดลงเหลือตํ่ากว่า 50% เชื่อว่าสัดส่วนธุรกรรมสาขาธนาคารลดลงทั้งระบบ ซึ่งสวนทางปริมาณธุรกรรมโมบายแบงกิ้ง ที่เติบโตก้าวกระโดดมากกว่า 50-60% และคาดว่าสัดส่วนปริมาณธุรกรรมจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตตามเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากขึ้น รวมถึงความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีความมั่นใจมากขึ้น

ดังนั้นธนาคารธนชาตคาดว่าภายใน 2-3 ปี สัดส่วนธุรกรรมผ่านช่องทางสาขาน่าจะปรับลดลงเหลือเพียง 20-30% และยอดโมบายแบงกิ้งทะลุ 70-80% โดยปัจจุบันฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้งของธนาคารมีเกือบ 1 ล้านราย คาดว่าปีนี้จะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นกว่า 1.5 ล้านราย

ปีนี้ธนาคารจะเน้นอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าตามเซ็กเมนต์ เนื่องจากฐานลูกค้าของธนาคารมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มทั่วไป กลุ่มเพิ่งเริ่มต้นทำงาน และกลุ่มลูกค้าคนรวย ซึ่งมีความต้องการทางการเงินแตกต่างกัน ธนาคารจะวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าแต่ละกลุ่ม อาทิ ลูกค้ามนุษย์เงินเดือน จะเห็นว่าไม่เดินเข้าสาขา ธนาคารจะส่งเสริมและแนะนำลูกค้ากลุ่มนี้ให้เข้าถึงช่องทางเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งในส่วน QR Code บริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (พร้อมเพย์) สอดคล้องกับแนวนโยบายของประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการลดต้นทุนทางการเงิน เพื่อเข้าสู่เป้าหมายสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และในท้ายที่สุดจะทำให้ค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรมจะหายไป

ขณะที่ลูกค้ากลุ่มระดับบนที่มีสินทรัพย์สูง หรือ Wealth Management ธนาคารจะเน้นหาผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนมาแนะนำลูกค้า เช่น กองทุนรวม ตราสารประเภทต่างๆ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่นิยมฝากเงิน เช่นเดียวกับลูกค้าสินเชื่อ จะเห็นว่าลูกค้ารายใหญ่ ไม่นิยมใช้สินเชื่อของธนาคาร แต่จะนิยมระดมทุนผ่านหุ้นกู้ พันธบัตร เป็นต้น ทำให้ทิศทางสินเชื่อปีนี้จะเห็นการเติบโตจากสินเชื่อรายย่อยมากกว่าสินเชื่อรายใหญ่ที่มีทางเลือก ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวและภาคก่อสร้าง เป็นต้น

“หากในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ระบบพิสูจน์ตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-KYC เกิดขึ้นได้ จะเห็นรูปแบบสาขาเปลี่ยนไปอีก ทำให้ปีนี้เราชะลอเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาไปก่อน แต่หันมามุ่งเน้นดูแลลูกค้าทุกกลุ่มให้ดีขึ้น ส่วนรูปแบบสาขาที่ปรับก่อนหน้านี้ก็ยังอยู่ระหว่างการทดลองอยู่ แต่ทั้งนี้ ตัวเร่งให้ธุรกรรมสาขาลดลงเร็ว และธุรกรรมโมบายเกิดขึ้นเร็ว จะเป็นเครื่องมือ เช่น โทร ศัพท์มือถือ หากคนในพื้นที่ห่างไกลหรือต่างจังหวัดมีสมาร์ทโฟน จะช่วยเร่งสัดส่วนธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นอีก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9