เบรกติดดาบกกต. ตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล

13 ม.ค. 2561 | 02:46 น.
ก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2-3 ในวันที่ 18-19 มกราคมนี้ ปรากฏมีข้อเสนอจากสมาชิก สนช. เสนอแปรญัตติให้เพิ่มมาตราขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ระหว่างการเลือกตั้ง หากมีการร้องเรียนกรณีไม่สุจริต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถเข้าตรวจค้นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล

ข้อเสนอดังกล่าวมีเสียงท้วงติงเป็นวงกว้าง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าเป็น การให้อำนาจ กกต.มากเกินไป ทำให้ขาดการถ่วงดุลอำนาจและเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าท้ายที่สุดข้อเสนอติดดาบ กกต.จะตกไปในที่สุด

[caption id="attachment_248946" align="aligncenter" width="412"] ทวี สุรฤทธิกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทค โนโลยีสารสนเทศ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ทวี สุรฤทธิกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทค โนโลยีสารสนเทศ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)[/caption]

++ละเมิดสิทธิเสรีภาพรุนแรง
นายทวี สุรฤทธิกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทค โนโลยีสารสนเทศ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ให้ความเห็นว่า กกต.เคยเสนอเรื่องนี้ช่วงต้นปี 2558 หลังรัฐประหาร ตนเป็นอนุกรรมการระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง มีการเสนอเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของกกต. ในการเข้าตรวจค้นสามารถดำเนินการป้องกันปราบปรามได้เลยเหมือนป.ป.ส. ถ้ารู้ว่ามียาเสพติดสามารถจับกุมได้เลย ช่วงนั้นทาง กกต.มาชี้แจง แต่กฎหมายนี้ก็ตกไป เพราะไม่เคยมีอำนาจแบบนี้ เรียกว่าพนักงานตามกฎหมายอาญา การใช้หมายค้นต้องเป็นคดีที่มีความรุนแรง เช่น ฆ่าคนตาย ฆาตกรรม อาชญากรรมร้ายแรง ปล้นทรัพย์ ยาเสพติด เป็นต้น ดังนั้นต้องมีหมายศาลจะดีกว่า

[caption id="attachment_248947" align="aligncenter" width="334"] โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล[/caption]

“เราคัดค้านไปแล้วเพราะเห็นว่าเป็นมาตรการที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไป น่าจะไม่เหมาะ แต่ถ้าเป็นข้อเสนอของสนช.ก็ไม่เห็นด้วย ไม่ดี เป็นเรื่องที่สามารถกลั่นแกล้งกันได้ ซึ่งเราจะไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนแกล้ง ซึ่งกกต.ต้องมีหลักฐานพอสมควร ถ้าเป็นอย่างนี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรง”

นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีต กกต. กล่าวว่า การขอหมายศาลไม่ได้ยุ่งยากอะไร การมีหมายศาลได้หลักประกัน 2 ด้าน คือ ผู้ถูกค้นจะรู้สึกว่ามีการตรวจสอบแล้วพอสมควร ขณะที่ผู้ไปค้นก็จะรู้สึกว่ามีขั้นตอนคุ้มครอง ไม่ได้ตัดสินใจโดยพลการ มีการตรวจสอบแล้วจึงจะไปค้นได้ เป็น การปกป้องทั้ง 2 ฝ่าย ไม่อย่างนั้นจะเป็นการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งตามมา การใช้อำนาจเป็นดาบสองคม อาจจะนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องก็ได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่ามันใช้ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

[caption id="attachment_124817" align="aligncenter" width="500"] สามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย สามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย[/caption]

++เชื่อมีปัญหาเลือกปฏิบัติ
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ถ้าให้อำนาจ กกต.อย่างเด็ดขาดโดยไม่มีองค์กรอื่นมาถ่วงดุล จะมีปัญหาการเลือกปฏิบัติ มีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าคิดว่าอยากค้นบ้านผู้สมัครคนใดก็ไปขอหมายศาลได้อยู่แล้ว

นอกจากนั้นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยทุจริต ทาง กกต.สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ทำอะไรผิดแล้วไปค้นบ้านแค่มีอำนาจเชื่อได้ว่าคนนั้นคนนี้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทาง กกต.ก็ดำเนินการได้ ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจในการเข้าค้นบ้านขนาดนี้ แต่ถ้าคิดว่าจะมีอำนาจนี้ก็ต้องมีองค์กรอื่นมาตรวจสอบถ่วงดุลด้วย อาจต้องไปขอศาลเพื่อแจงเหตุผลเบื้องต้นว่าเข้าไปค้นบ้านเพราะอะไร มีการเตรียมการเพื่อทุจริตเลือกตั้งอย่างไร เพราะอาจจะเกิดปัญหาเลือกปฏิบัติได้

[caption id="attachment_242478" align="aligncenter" width="335"] ศุภชัย ใจสมุทร ศุภชัย ใจสมุทร[/caption]

++ผิดหลักถ่วงดุลอำนาจ
สอดคล้องกับความเห็นนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการใช้อำนาจที่มันเลยเถิด กลั่นแกล้งใคร โดยหลักการเชื่อว่า กกต.ตรงไปตรงมา สุจริตเที่ยงธรรมอยู่แล้ว

“เรื่องการใช้อำนาจอะไร ควรที่จะมีมาตรฐานเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานประมวลกฎหมายอาญาอื่นๆ เช่น ตำรวจมีอำนาจในการค้นอะไรก็ควรมีอำนาจเช่นเดียวกันนั้น เพราะในหลักสากลหรือหลักกฎหมายของประเทศ ไทย สิ่งที่เป็นที่ยอมรับคือการใช้อำนาจทั้งหลายต้องใช้อำนาจโดยศาล เหล่านี้เป็นเรื่องบรรทัดฐานของคนทั้งประเทศและของโลกด้วย การที่ให้อำนาจมากเกินไปเป็นการผิดหลักการถ่วงดุลอำนาจ”

[caption id="attachment_183148" align="aligncenter" width="490"] นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์[/caption]

++ไม่ซื้อเสียงไม่ต้องกลัวค้นบ้าน
ทางด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ มองต่างจากเสียงส่วนใหญ่ โดยระบุว่าไม่ขัดข้องที่จะให้อำนาจ กกต.ในการค้นบ้านโดยไม่ต้องมีหมายศาล เพราะมองว่าเป็นเรื่องของความโปร่งใส ค่อนข้างจะเห็นด้วยด้วยซํ้า แต่ต้องมีระดับของเจ้าหน้าที่ เฉกเช่น “ตำรวจ” ต้องเป็นชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป หรือถ้าเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองก็ต้องเป็นชั้นผู้ใหญ่ ถ้าเป็น กกต.ก็ต้องเป็นตำแหน่งที่สูงพอสมควรจึงจะเข้าไปตรวจค้นได้ เพราะถ้าเรามองว่าการทุจริตเป็นปัญหาหลักของประเทศ เราต้องการการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ เที่ยงธรรม ไม่ซื้อเสียง ก็ควรให้กกต.มีอำนาจเพราะบางอย่างถ้ามาขอหมายค้นจะไม่ทันการณ์ ส่วนที่ห่วงว่าจะมีการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้นก็ต้องดูข้อเท็จจริงว่ามีเจตนากลั่นแกล้งหรือไม่ มีมูลแค่ไหนในการตรวจค้นบ้าน

“คนไม่ซื้อเสียงไม่ต้องกลัว คนที่ไม่ซื้อเสียงควรสนับสนุนด้วย ซํ้า แต่ปัญหาคือกกต.จะกล้าตรวจ ค้นหรือไม่ ถ้ากล้าก็พร้อมจะมอบอำนาจให้ เพราะคนที่ทุจริตส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครที่ค่อนข้างมีอิทธิพล อันนี้คือปัญหา ผู้สมัครธรรมดาไม่ซื้อเสียงอยู่แล้ว”

++เบรกติดดาบกกต.ตรวจค้น
ล่าสุด นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาระบุว่า กล่าวถึงข้อเสนอให้กกต.มีอำนาจตรวจค้นกรณีสงสัยว่าจะมีการทุจริตเลือกตั้งโดยไม่ต้องมีหมายค้นจากศาลว่า เป็นการขอแปรญัตติจากสมาชิกสนช.ที่เห็นว่าควรให้กกต.มีอำนาจตรวจค้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล แต่กรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการให้อำนาจกกต.มากเกินไป จึงยืนยันเนื้อหาตามร่างเดิมที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมาคือ ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจะต้องมีหมายค้นจากศาลก่อนจึงจะดำเนินการได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9