ตบเท้าชิงไฮสปีดเทรน ซีพี-บีทีเอส ร่วมประมูล-ก.พ.ออกTORกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา

10 ม.ค. 2561 | 07:42 น.
รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภาพร้อมออกทีโออาร์ ก.พ. นี้“อานนท์”เผยมีทั้ง จีน ญี่ปุ่น และไทย ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการมูลค่า 2.26แสนล้านบาท ขณะที่ ค่ายซีพีและบีทีเอส โดดเข้าร่วมประมูลแน่

[caption id="attachment_181793" align="aligncenter" width="503"] อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อานนท์ เหลืองบริบูรณ์[/caption]

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 ท่าอากาศยาน ซึ่งเป็น 1 ในโครงการเร่งด่วนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีว่า ขณะนี้ทางร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการจัดทำรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยจะเป็นรูปแบบการร่วมทุนกับภาคเอกชน(PPP typel Net Cost) ที่จะให้ภาคเอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าเครื่องกลรถไฟ ขบวนรถไฟ ค่าจ้างที่ปรึกษา และการดำเนินงานเดินรถไฟและซ่อมบำรุง ตลอดระยะเวลาโครงการ และภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จากงบประมาณของภาครัฐ เพื่อให้เอกชนรับผลตอบแทนทางการเงินที่จูงใจต่อการลงทุน และจะเป็นผู้เก็บรายได้จากค่าโดยสารและเป็นผู้รับความเสี่ยงในเรื่องรายได้

โดยผลการศึกษานี้ จะนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์นี้ เพื่อนำไปประมวลผล หรือพิจารณาในรายละเอียด และคาดว่าจะนำมาสรุปส่งให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ภายในเดือนมกราคมนี้ เพื่ออนุมัติเห็นชอบนำไปประกอบเงื่อนไขในทีโออาร์ ที่คาดว่าจะสามารถประกาศได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ เปิดให้บริการได้ในปี 2566

TP11-3330-1 ส่วนความสนใจของนักลงทุนที่จะเข้าร่วมประมูลนั้นขณะนี้มีทั้งนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน และบริษัทที่อยู่ในไทย ได้ให้ความสนใจกับโครงการดังกล่าว รวมถึงบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างต่างๆ ที่ได้มีการหารือกับกลุ่มทุนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ ซึ่งกรอบเงินลงทุนที่ประมาณการไว้จะอยู่ที่ประมาณ 2.26 แสนล้านบาทแบ่งเป็นส่วนของรถไฟความเร็วสูงประมาณ 1.76 แสนล้านบาท และส่วนการพัฒนาพื้นที่มักกะสันและการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยผลการศึกษาใหม่ได้ตัดจำนวนสถานีจอดที่ระยองออก สิ้นสุดแค่สนามบินอู่ตะเภา ทำให้เหลือเพียง 9 สถานี จาก 10 สถานี

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) กล่าวว่า ทางกลุ่มซีพีจะเข้าไปลงทุน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เกิดขึ้น เพราะมองว่าถ้าโครงการเกิดได้ จะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ค่อนข้างมากและอาจจะดันพีดีพีไปถึงระดับ 7-8% ไม่ตํ่าเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอยากให้รัฐบาลผลักดันการพัฒนาอีอีซีให้สำเร็จ ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ถ้าเกิดได้ตามแผนจะทำให้ไทยมีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์

แหล่งข่าวจากซีพีกรุ๊ป กล่าวว่า ซีพีได้ติดตามโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามเรื่องนี้พร้อมกับศึกษาความเป็นไปได้ในหลายมิติทั้งรายละเอียดโครงการ การลงทุนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทาง การเชื่อมโยงจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงความยั่งยืนหากซีพีจะเข้าไปลงทุนโครงการดังกล่าว
“โครงการนี้มีความเป็นไปได้ที่ซีพีจะลงทุนเอง และร่วมทุนกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งทั้งการก่อสร้าง การเดินรถ และบริหารโครงการ”

ad-hoon

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน กล่าวว่า บีทีเอสสนใจลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงทุกเส้นทาง แต่ขอดูรายละเอียดโครงการว่าจะมีเงื่อนไขเอื้อต่อการลงทุนอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลเร่งแสดงความชัดเจนด้านรายละเอียดโครงการเพื่อเอกชนจะได้เข้าไปศึกษาข้อมูล

“โครงการนี้ลงทุนสูงมากจึงต้องการให้ภาครัฐเปิดให้เอกชนได้ศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจแต่ยืนยันว่าบีทีเอสมีความพร้อม”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9