‘โซลาร์ไฮเวย์’ ถนนปั่นไฟแห่งเมืองจี้หนาน

14 ม.ค. 2561 | 08:23 น.
จี้หนาน เมืองหลวงของมณฑลชานตงในประเทศจีน กำลังทดลองใช้ถนนอัจฉริยะด้านพลังงานเรียกว่า “โซลาร์ไฮเวย์” ระยะทางยาวเพียง 1 กิโลเมตร แต่มันเป็นถนนที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพราะแสงแดดแผดจ้าที่ส่องกระทบมายังพื้นผิวถนนในแต่ละวันนั้น ไม่ถูกทิ้งให้สูญเปล่า แต่ถูกนำมาแปรเปลี่ยนกลายเป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถใช้ให้แสงสว่างเสาไฟริมถนน กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บนเสาริมทางหลวง ให้แสงไฟแก่ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ ป้อนระบบไฟฟ้าของด่านทางด่วน รวมทั้งระบบละลายนํ้าแข็งที่เกาะผิวถนนในช่วงฤดูหนาว และถ้ามีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลือใช้ก็ยังสามารถขายให้กับเครือข่ายไฟฟ้าส่วนกลางอีกด้วย

MP27-3330-1A ถนนโซลาร์ไฮเวย์สายนี้ก่อสร้างและติดตั้งระบบโดยบริษัท ฉีลู่ ทรานสพอร์เทชั่น ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป ตอนนี้ยังเป็นระยะทดลองใช้งานเพื่อทดสอบระบบ ตัวถนนมี 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นฉนวน ส่วนแผงโซลาร์เซลล์อยู่ชั้นกลาง ปิดทับด้วยคอนกรีตโปร่งแสงชั้นบนสุด คิดเป็นพื้นที่ถนนที่สามารถรับแสงแดดเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 5,875 ตารางเมตร (ประมาณ 63,238 ตารางฟุต) ผู้สัญจรไปมาจะเห็นถนนเส้นนี้เป็นถนน 2 เลนและเลนรถฉุกเฉินอีก 1 เลน เพียงแต่อาจจะไม่รู้ว่ามันสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง/ปี ซึ่งเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันของ 800 ครัวเรือน นอกจากนี้ วิศวกรโครงการยังระบุว่า ถนนโซลาร์ไฮเวย์สามารถรองรับแรงกดทับได้มากกว่าถนนแอสฟัลต์ทั่วไปถึง 10 เท่า

MP27-3330-2A ข้อดีของการทำถนนให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้านั้น คือการประหยัดพื้นที่ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มหาศาลเหมือนการทำโซลาร์ฟาร์ม อีกทั้งระยะทางการส่งกระแสไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดไปยังอุปกรณ์หรือผู้ใช้ไฟฟ้าก็เป็นระยะทางที่สั้นกว่า

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนก่อสร้างยังแพงกว่าถนนทั่วไปอยู่มาก โดยทางบริษัท ฉีลู่ฯ ผู้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างเปิดเผยว่า ต้นทุนของโซลาร์ไฮเวย์อยู่ที่ประมาณ 3,000 หยวน หรือ 458 ดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 15,000 บาท) /ตารางเมตร แม้แนวโน้มต้นทุนจะถูกลงในอนาคต แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะตัดขยายถนนโซลาร์ไฮเวย์ให้มีเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9