นักคิดรุ่นใหม่ กับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

13 ม.ค. 2561 | 00:42 น.
ปลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการประกาศตัวครั้งใหญ่ของ กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ถึง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563” หรือ “CP Group Sustainability Goals 2020” และหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือซีพีครั้งนี้ ก็คือ “ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ผู้บริหารด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืนและธรรมาภิบาลการสื่อสารและนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์ และยังเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เขาคนนี้คือ หนึ่งในทีมงานที่เข้ามารับโจทย์ใหญ่จากประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี “ศุภชัย เจียรวนนท์” โดยโจทย์หลัก คือ การสร้างความยั่งยืนผ่าน “คน” และ “นวัตกรรม”

การสร้างคนรุ่นใหม่ ให้มีศักยภาพมากขึ้น คือการเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้โดยไม่ปิดกั้น เพราะเทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก คนจึงต้องพร้อมเรียนรู้ ทดลอง และทุกอย่างต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เนื่องจากธุรกิจของเครือซีพี เป็นธุรกิจที่มีซัพพลายเชนที่ยาว ดังนั้น การรู้ระบบรู้กระบวนการทั้งหมด จะทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ “ดร.ยุทธ” บอกว่านี้คือ สิ่งที่ท่านประธานเน้น

[caption id="attachment_248752" align="aligncenter" width="459"] ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ[/caption]

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา เครือซีพีมีภาพลักษณ์ด้านลบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ เรื่อง การเข้ามาทำเรื่องการสร้างความยั่งยืนคือ การแก้ปัญหาดังกล่าวหรือไม่ “ดร.ยุทธ” อธิบายว่า ธุรกิจของเครือซีพีมีหลากหลายมาก และเป็นธุรกิจที่มี Value Chain หรือห่วงโซ่แห่งคุณค่าที่ยาว จึงทำให้เกิดผลกระทบเยอะ การที่เครือซีพีลุกขึ้นมาทำเรื่องความยั่งยืน ภาพลักษณ์ถือเป็นเรื่องรอง สิ่งสำคัญคือการบริหารความเสี่ยง จากหลักคิด 3 ประโยชน์ คือ ประเทศชาติ ประชาชน และสังคม ก็คือเรื่องเดียวกับ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และจากการทำเรื่องความยั่งยืนมาต่อเนื่อง ทำให้เครือซีพีได้รับการยอมรับจาก 4 สถาบันจาก 3 ทวีป เช่น การได้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) การเป็นสมาชิกความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index การได้รับการประเมินที่ดีจากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) และการได้ CG 5 ดาวจากโครงการ CGR2560 ของสถาบันกรรมการบริษัทไทย

การทำเรื่องความยั่งยืน สามารถช่วยได้ 3 เรื่อง คือ 1. การสร้างความเชื่อใจ ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ทั้งหมด 2. เป็นการลดต้นทุ่น เราทำเรื่องไบโอดีเซล การรีไซเคิล ลดขยะ และ 3. คือ การสร้างการเติบโต...แน่นอน การที่เครือซีพีได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ นั่นคือ เครื่องการันตีส่วนหนึ่งในการเป็นที่ยอมรับทางธุรกิจ ซึ่งนั่นจะทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจในเครือเติบโตได้อย่างมั่นคง

ภารกิจส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนให้องค์กร ที่จะได้เห็นกันในปีนี้ คือ เรื่องของกองทุน Social Impact Fund ซึ่งลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีทุนประเดิมประมาณ 1,000 ล้านบาท (อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ แล้วแต่รูปแบบโครงการ) เขาบอกว่า ขณะนี้มีการคัดเลือกกว่า 50 สตาร์ตอัพ จนเหลือ 5 สตาร์ตอัพที่น่าสนใจ โดย

สตาร์ตอัพที่คัดเลือกเข้ามาคือ สตาร์ตอัพที่มีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนจริงๆ และบิสิเนสโมเดลของเขา ต้องยั่งยืนด้วย และเครือซีพีต้องมีศักยภาพที่จะสนับสนุนธุรกิจของสตาร์ตอัพนั้นๆ ได้ ไม่เพียงแค่เรื่องเงิน แต่ต้องสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีได้ด้วย ซึ่งปีนี้จะได้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น

[caption id="attachment_248749" align="aligncenter" width="335"] ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ[/caption]

ส่วนอีกกลุ่มที่จะเป็นโครงการคล้ายๆ กัน เป็นการดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) คือ 1. กลุ่มที่ใช้จุดแข็งของเครือซีพีในการดำเนินงาน เป็นโครงการระยะยาว อาจจะ 5-10 ปี โดยท้ายสุดชาวบ้านจะเป็นเจ้าของ และสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และ 2. กลุ่มที่นำ pain point ของสังคมมาเป็นแกน โดยรูปแบบโครงการยังอยู่ในช่วงการทดลอง และศึกษา ว่าบิสิเนสโมเดลไหนจะดีกว่ากัน และควรดำเนินการอย่างไร

“ดร.ยุทธ” บอกว่า ความท้าทายของงานที่ได้รับมอบหมายครั้งนี้ คือ การสร้างความเชื่อมโยง เพราะการสร้างความยั่งยืน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเกิดจากบริษัทเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือระหว่างทีมงาน ชาวบ้าน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่การแข่งขันทางธุรกิจมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ องค์กรก็ต้องทำสังคมให้ดีไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น ความคาดหวังจากการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ จึงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และการที่จะตอบโจทย์ทั้งการแข่งขัน และความร่วมมือทั้งหมด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้ บริษัทก็ต้องมี “นวัตกรรม” ไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะนวัตกรรม จะเข้ามาช่วยลดต้นทุน และนวัตกรรมคือการค้นคิดให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
งานที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้เขาหนักใจ เพราะในการทำงาน ยังมีคนที่เป็นหัวเรือใหญ่ ที่มีความสามารถ และมีทีมงานที่แข็งแกร่ง ทำให้ภารกิจครั้งนี้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี แม้จะไม่ง่ายนัก แต่เขาก็พร้อมเดินสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563 ของเครือซีพี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9