ดีมานด์ผู้โดยสารล้น โจทย์ท้าทายบริหารจัดการสนามบินยุคท่องเที่ยวบูม

13 ม.ค. 2561 | 11:46 น.
ความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวของไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวทะลุ 35 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศเกิดขึ้น และการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย ที่มีจำนวนกว่า 152 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งการเดินทางทางอากาศก็เป็นหนึ่งในรูปแบบการเดินทางที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง จากการแข่งขันธุรกิจการบินที่เพิ่มขึ้นทั้งจากสายการบินปกติและโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่เพิ่มเส้นทางบินเชื่อมเมืองหลัก-เมืองรอง และเมืองรอง-เมืองรองกันให้พรึบ ยังไม่นับการบินไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

การเติบโตที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจสนามบิน ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ ล่าสุด “บริษัท ท่าอากาศ ยานไทย จำกัด (มหาชน)” หรือ “ทอท.” ขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกในหุ้นกลุ่มท่าอากาศยาน

MP22-3330-1A ++1 เดือนแรกปีนี้ไฟลต์พุ่ง8.7%
ดีมานด์การใช้บริการที่ล้นศักยภาพการรองรับของสนามบิน โดยเฉพาะใน 6 สนามบินหลักของทอท.ซึ่งล้วนแต่เป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสนามบินแออัดอาจจะกระทบต่อกิจการของทอท.ในอนาคต ซึ่งก็คงไม่ใช่เพียงปัญหาของทอท.เท่านั้น ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศด้วยเช่นกัน จึงถือว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายว่าจะบริหารจัดการสนามบินอย่างไร เพื่อบรรเทาความแออัดในสนามบินที่เกิดขึ้น ระหว่างรอการดำเนินการขยายศักยภาพการรองรับของสนามบินที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ

ทั้งนับวันปัญหาความแออัดในสนามบิน จะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันเพียงแค่เดือนแรกของปี 2561 จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า ตลอดเดือนมกราคม 2561 ไทยมีเที่ยวบินระหว่างประเทศทำการบินเข้าไทยเพิ่มกว่า 8.77% จากจำนวนเที่ยวบินรวมกว่า 4.48 ล้านเที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินตรง 4.21 เที่ยวบิน และคอนเน็กติ้งไฟลต์ 2.69 แสนเที่ยวบิน ทั้งในปีนี้ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่าแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมากถึง 37.8 ล้านคน

++แนะเพิ่มไอทีช่วยลดแออัด
“การลดปัญหาความแออัดในสนามบิน จะรอให้สนามบินขยายเสร็จคงไม่ใช่ เพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลา และที่สำคัญกว่าจะขยายสนามบินเสร็จ ตอนนั้นจำนวนผู้ใช้บริการก็คงเกินศักยภาพการรองรับไปแล้ว ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการสนามบิน ทำให้เป็นสมาร์ทแอร์พอร์ต ทำให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทางเข้า-ออกสนามบินรวดเร็ว เป็นสิ่งที่ทอท.ต้องให้ความสำคัญ ไม่ได้มองแต่การขยายสนามบินเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาเท่านั้น” นายหลุยส์ มอเซอร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพหรือเอโอซี กล่าว

[caption id="attachment_241343" align="aligncenter" width="503"] นายนิตินัย ศิริสมรรถการ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ[/caption]

++เร่ง6สนามบินรับ184 ล.คน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า จากเว็บไซต์ของบลูมเบิร์ก ที่จัดอันดับหุ้นทอท.มีมูลค่าหลักทรัพย์สูงสุดของโลกในหุ้นกลุ่มท่าอากาศยาน เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินของทอท.เป็นจำนวนมาก และยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสนามบินแออัดอาจจะกระทบต่อกิจการในอนาคต ทอท.มีแผนขยายสนามบิน 6 แห่งของทอท.ในระยะ 10 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยจะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารจาก 83.5 ล้านคนต่อปีเป็น 184 ล้านคนต่อปีในปีงบประมาณ 2568 ใช้งบลงทุนรวม 2.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ในเดือนมิถุนายน 2561 หลังการปรับปรุงท่าอากาศ ยานภูเก็ต ระยะที่ 2 แล้วเสร็จ และเมื่อรวมกับการปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง ในปี 2559 พบว่า ทอท.ได้ขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 42.5 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2560 มีปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานของ ทอท. เป็นจำนวน 133 ล้านคน และปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ ตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) โดยได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี

++บูรณาการคลัสเตอร์สนามบิน
นอกจากการพัฒนาสนามบินของทอท.แล้ว ในส่วนของสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยานหรือทย. กว่า 28 แห่ง ที่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีการขยายตัวถึง 25% ทำให้สนามบินที่เคยขาดทุนบักโกรกเป็นส่วนใหญ่ เหลือขาดทุนอยู่เพียง 3 สนามบิน ซึ่งก็เป็นผลจากการเติบโตของผู้โดยสาร ที่ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางในประเทศเช่นกัน ซึ่งทย.ก็มีแผนลงทุนขยายสนามบินที่มีดีมานด์การเติบโต ภายใต้การขอจัดสรรงบจากรัฐบาลกว่า 3 หมื่นล้านบาทเช่นกัน

ในขณะนี้ ทั้งทย.และทอท. ยังต้องหารือร่วมกัน เพื่อทำแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การบริหารท่าอากาศยาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งทางอากาศของประเทศในภาพรวม โดย ทอท.ได้วิเคราะห์บทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทยภายใต้กรอบแนวคิดแบบการบริหารจัดการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานต้องทำเป็นกลุ่ม (คลัสเตอร์) เพื่อให้การบริหารจัดการน่านฟ้าของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมไปถึงเหมาะสมกับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (Positioning) ของสนามบินแต่ละแห่ง ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ภาคพื้น ยังทำให้การทำการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ เป็นไปในทิศทางเดียวกันและไม่เกิดการแข่งขันกันเอง ซึ่งจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยรวม ที่ต่อไปเราคงจะเห็นการบริหารจัดการสนามบินในภาพรวมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสากลเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง ของรัฐบาล ก็เป็นอีกหนึ่งทางออก ที่จะกระจายการเดินทางไปสู่เมืองรอง ที่ก็จะช่วยลดปัญหาความแออัดในสนามบินหลักของไทย ได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

ad-hoon

++ทอท.ครองแชมป์มูลค่าหุ้นสูงที่สุดในโลก
จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศ ไทยเพิ่มขึ้นมากในปี 2560 ทำให้ทอท. สามารถแซงหน้าแชมป์เก่า คือบริษัท แอนาฯ (Aena SA) ผู้ให้บริการสนามบินในประเทศสเปน ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลกในฐานะผู้ประกอบการท่าอากาศยานที่มีมูลค่าหุ้นสูงที่สุดในโลก

นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ราคาหุ้นของทอท.ขยับสูงขึ้น 75% ทำให้มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัททะลุระดับ 1 ล้านล้านบาท (31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งปัจจุบันมีเพียงทอท. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพียง 2 รายเท่านั้นที่สามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าว

เฉพาะในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หุ้นทอท.พุ่งขึ้น 9.2% เป็นการขยับสูงขึ้น 10 เดือนติดต่อกัน ท่ามกลางบริบทที่จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในเดือนพฤศจิกายน 2560นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเพิ่มขึ้นถึง 23%

ราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างโดดเด่นนี้ ทำให้ทอท.เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการดีที่สุด หรือ best performer ในการจัดอันดับ “Asia-Pacific Infrastructure Top Peers” ของบลูมเบิร์กครั้งล่าสุด ตามมาด้วยเซี่ยงไฮ้ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ท เป็นอันดับ 2 และเมื่อเปิดศักราชใหม่มานี้ หุ้นทอท.ขยับสูงขึ้น 4.4% ใน 2 ช่วงการซื้อขายแรกของปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9