เดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เชื่อมการค้าเออีซี

14 ม.ค. 2561 | 00:17 น.
โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดน เชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมความเป็นอยู่สร้างคุณภาพชีวิต รวมทั้งกระจายความเจริญอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยในปี 2558 ประเทศไทย ประกาศเปิดโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจรวม 10 จังหวัด โดยเฟสแรก 5 จังหวัดประกอบด้วย ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา และในเฟสที่สอง 5 จังหวัดคือ หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี รวมพื้นที่กว่า 6,200 ตร.กม.

MP21-3330-1A สำหรับกิจการเป้าหมายที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษประกอบด้วย 13 กลุ่ม คือ 1.อุตสาหกรรมการเกษตร 2.เซรามิก 3.อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม 4.อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือน 5.อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 6.การผลิตเครื่องมือแพทย์ 7.อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วน 8.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 9.การผลิตพลาสติก 10.การผลิตยา11.กิจการโลจิสติกส์ 12.นิคมอุตสาหกรรม 13.กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่เป้าหมาย ตั้งแต่ ปี 2558 ใช้งบประมาณกลางกว่า 2,377 ล้านบาท ปี 2559 ใช้งบ กว่า 6,168 ล้านบาท ปี 2560 ใช้งบ 3,305 ล้านบาท และในปี 2561 จะใช้งบสูงสุดถึง 9,883 ล้านบาท

MP21-3330-A ในปี 2561 การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในเฟสแรก 5 จังหวัด เริ่มมองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น รายงานจาก สศช. ระบุว่า พื้นที่จังหวัดตาก มีความคืบหน้าไปมาก โดยในปี 2561 ถนนเลี่ยงเมืองแม่สอดและสะพานข้ามแม่นํ้าเมยแห่งที่ 2 จะแล้วเสร็จ ส่วนการขยายทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด ก็จะเปิดใช้งานในปี 2562 พร้อมๆ กับการเปิดอาคารท่าอากาศยานแม่สอดแห่งใหม่ ซึ่งปัจจุบัน มีการเปิดเส้นทางบิน แม่สอด-ย่างกุ้ง เพื่อรองรับนักธุรกิจที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกำลังมีแผนขยายความยาวของทางวิ่งเพื่อรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และสุดท้ายคือการสร้างด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 ตรงสะพานข้ามแม่นํ้าเมย 2 และนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563

สำหรับพื้นที่จังหวัด สระแก้ว ทางรถไฟช่วงชุมทางแก่งคอย-คลองสิบเก้า-สุดสะพานคลองลึก และนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2561 ส่วนทางหลวงสายอรัญประเทศ-ชายแดนไทย และด่านศุลกากรอรัญประเทศ บ้านหนองเอี่ยน มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562

MP21-3330-2A ด้านจังหวัดสงขลา ที่มีการค้าชายแดนมูลค่าสูงสุดของประเทศ รอการสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ และนิคมอุตสาหกรรมสะเดา มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 ส่วนจังหวัดตราด ถนน 4 เลนเข้าท่าเทียบเรือจะแล้วเสร็จในปี 2561 และทางหลวงหมายเลข 212 ตราด-หาดเล็ก ตอน 2-4 น่าจะพร้อมใช้งานในปี 2562 ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร มีความพร้อมของด่านศุลกากรมากที่สุด เหลือเพียงเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก และการขยายทางหลวงหมายเลข 12 กาฬสินธุ์-บ้านนาไคร้-คำชะอี และทางหลวงหมายเลข 212 หว้านใหญ่-นครพนม มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562

ขณะเดียวกัน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในเฟส 2 ก็ยังมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องไล่เลี่ยกัน ที่หนองคายสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ ที่กาญจนบุรี สร้างมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี และด่านศุลกากรพุนํ้าร้อน เชียงราย สร้างทางเลี่ยง เมือง และด่านศุลกากรแห่งใหม่ นครพนม ผุดศูนย์การขนส่งชายแดนและด่านศุลกากรแห่งใหม่ ส่วนนราธิวาส ปรับปรุงด่านที่มีอยู่และเปิดนิคมอุตสาหกรรมนราธิวาส

เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9