การ์เมนต์ไทยมุ่งหน้า4.0 โรงงานไฮเทคโนโลยีหวังผลสัมฤทธิ์6ด้าน

13 ม.ค. 2561 | 11:35 น.
เครื่องนุ่งห่ม หรือการ์เมนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างชาติที่อยู่คู่กับภาคการผลิตและส่งออกของไทยมานานกว่า 30 ปี ช่วยสร้างงานให้คนไทยนับล้านคน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ทั้งค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น แรงงานขาดแคลน ขณะที่มีคู่แข่งมาแรงในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) รวมถึงบังกลาเทศ และอินโดนีเซีย เข้ามาเบียดแย่งตลาด และเวลานี้อุตสาหกรรมกำลังถูกท้าทายและมีภัยคุกคามในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่โลกแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นInternet of Things (IoT) ดิจิตอล โรบอต และอื่นๆ

++ดันสู่รง.แห่งอนาคต
นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางสมาคมอยู่ระหว่างการผลักดันสมาชิกที่มีอยู่ประมาณ 340 รายเพื่อปรับตัวจากสมาร์ทโออีเอ็ม (เป็นโออีเอ็มที่สามารถตอบสนองหรือนำเสนอบริการให้ลูกค้ามากกว่าการผลิต) สู่เป้าหมายโรงงานแห่งอนาคต (Factory of the Future : FoF) โดยเร่งพัฒนากระบวนการผลิตนำเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่สูงขึ้นใส่เข้าไปในกระบวนการผลิต และการเร่งพัฒนาทักษะแรงงานและพนักงานทั้งองค์กรให้สูงขึ้น

ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.สมรรถนะการผลิตที่สูงขึ้น 2.มีความยืดหยุ่นในการรับคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ได้หลากหลาย ทั้งออร์เดอร์ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ สามารถผลิตงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป 3.ความรวดเร็ว 4.คุณภาพ 5.ความปลอดภัย และ 6.ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

[caption id="attachment_248651" align="aligncenter" width="335"] ถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย[/caption]

“ทั้งหมดเป็นแนวทางการยกระดับการผลิตและการแข่งขันของสมาชิกทั้งระบบให้สูงขึ้น ซึ่งเราได้เริ่มแล้ว ทั้งการนำสมาชิกไปศึกษาดูงานในจีน ทั้งที่เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ โรงงานผลิตเส้นใยและโรงทอผ้าขนาดใหญ่ บริษัทชั้นนำด้านแฟชั่น รวมถึงโรงงานผลิตเครื่องจักรที่ใช้ระบบออโตเมชันที่ทันสมัย นอกจากนี้มีการนำสมาชิกเยี่ยมชมโรงงาน การ์เมนต์ในไทยที่เก่งในแต่ละด้าน หรือการนำผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศมาฝึกอบรมให้สมาชิกเห็นภาพ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและรับมือกับอนาคต”

++ส่งออก11เดือนยังลบ
“ถาวร” ยังฉายภาพการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทย ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 ส่งออกแล้วมูลค่า 2,145.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือ 7.29 หมื่นล้านบาท) ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.9% โดยตลาดสหรัฐฯซึ่งมีสัดส่วนส่งออกมากสุด 33.8% มีมูลค่าส่งออก 725.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวลดลง 7.0% ส่วนตลาดรองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น เบลเยียม จีน และเยอรมนี มีมูลค่า 351.9, 125.2, 79.1 และ 73.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.3, 8.9, 7.8% และ -9.2% ตามลำดับ

“การส่งออกของเราไปสหรัฐฯที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ผลจาก 2 ปัจจัยคือ 1.นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯที่มีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะเรื่องการถอนสหรัฐฯออกจากความตกลงทีพีพี กระทบต่อการนำเข้า 2.ธุรกิจเสื้อผ้าในสหรัฐฯได้รับผล กระทบจากการค้าออนไลน์อย่างมาก เพราะผู้ซื้อสินค้าจากเราส่วนใหญ่เป็นดีพาร์ตเมนต์สโตร์ หรือห้างค้าปลีกรายใหญ่ เช่นเมซี่ส์ ทาร์เก็ต วอลมาร์ตที่ปิดสาขาหรือลดจำนวนสาขาลง ทำให้การสั่งซื้อหดตัวลง”

++จีนลุยแบรนด์ระดับโลก
ส่วนการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากญี่ปุ่นลดการพึ่งพาการนำเข้าเสื้อผ้าจากจีน จากก่อนหน้านี้เคยพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสัดส่วนถึง 90% ปัจจุบันลดลงเหลือระดับ 70% และหันมาจัดหา (ซอร์ซซิ่ง) จากแหล่งอื่นมากขึ้น เช่น บังกลาเทศ ไทย อินโดนีเซีย เมียนมา ส่วนตลาดจีนที่ไทยส่งออกสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นเป็นผลจากโรงงานเสื้อผ้าในจีนได้ลดการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ให้กับเสื้อผ้าแบรนด์เนมต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์จากยุโรปที่จ้างโรงงานในจีนผลิตเพื่อขายในตลาดจีน ได้หันไปผลิตและสร้างแบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์จีนมากขึ้น

“ผลพวงโรงงานในจีนลดผลิตโออีเอ็ม ทำให้ลูกค้าแบรนด์ยุโรปต้องมาเอาต์ซอร์ซการผลิตจากประเทศอื่น ซึ่งรวมทั้งไทยเพื่อส่งไปขายในจีน อีกด้านหนึ่งต้นทุนการผลิตในจีนเริ่มสูงขึ้นจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการจีนจำนวนมากจึงเริ่มหันมาผลิตในแบรนด์ตัวเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งเพื่อขายในจีน และส่งออกต่างประเทศ”

วิทยุพลังงาน ++เล็งส่งออกปี61โต3%
อย่างไรก็ดีสมาคมคาดการณ์ว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2560 จะขยายตัวลดลงจากปีก่อน 2% (จากปี 2559 ส่งออกมูลค่า 2,411.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 8.45 หมื่นล้านบาท)

ส่วนปี 2561 เบื้องต้นคาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้จากปีนี้ที่ 3% โดยผู้ส่งออกบางรายเวลานี้ได้รับคำสั่งซื้อไปจนถึงกลางปี 2561 แล้ว แต่คงต้องลุ้นช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่าจะเป็นอย่างไร

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบ การการ์เมนต์ไทยไปลงทุนตั้งโรงงานใน CLMV แล้วประมาณ 30 ราย มียอดส่งออกประมาณ 10% ของมูลค่าส่งออกจากไทย ซึ่งแต่ละกลุ่มก็คงขยายธุรกิจในจังหวะที่เหมาะสมตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งทิศทางจะเป็นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ส่วนในไทยจะเป็นการขยายแบบการใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตมากขึ้น”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9