แห่ยื่นประมูล VSPP จ่อพุ่ง10 เท่ารับซื้อไฟ

12 ม.ค. 2561 | 10:50 น.
เอกชนเตรียมรุมประมูล VSPP Semi-Firm คาดยื่นขายไฟฟ้ากว่า 10 เท่า เกินเป้า กกพ.ที่เตรียมเปิดรับซื้อแค่ 269 เมกะวัตต์ในช่วงต้นปี 2561 พร้อมเสนอภาครัฐเพิ่มส่วนได้ประโยชน์ชุมชนหลังนายทุนเข้าใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมาก

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการพลังงานทดแทน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบ VSPP Semi-Firm จำนวน 269 เมกะวัตต์ ในช่วงต้นปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการสนใจร่วมประมูลจำนวนมาก เนื่องจากข้อกำหนดในการยื่นขายไฟฟ้า VSPP Semi-Firm ไม่มีเงื่อนไขมากเท่ากับการประมูล SPP Hybird Firm ที่ กกพ.เปิดประมูลไปแล้วก่อนหน้านี้ 300 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้า VSPP ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ สามารถหาเชื้อเพลิงได้ง่ายกว่าและไม่ต้องมีปริมาณมากเหมือนกับ SPP อีกทั้ง มีเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน(Energy Storage) ที่มีต้นทุนเริ่มตํ่าลง ซึ่งจะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐยังมีจำกัดด้วย ดังนั้นคาดว่าการเปิดประมูล VSPP Semi-Firm ในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 10 เท่าของอัตราที่จะเปิดรับซื้อในครั้งนี้หรือราว 2.6 พันเมกะวัตต์

tp8-3330-D “หลายบริษัทสนใจเข้าร่วมประมูล VSPP Semi-Firm ตอนนี้อยู่ระหว่างหารือกับทางท้องถิ่นเรื่องเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งดูไว้หลายชนิด อาทิ ซังข้าวโพด เศษไม้ รวมทั้งต้องหารือกับคนในท้องที่เรื่องพื้นที่ก่อสร้างด้วย” แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ SPP และ VSPP เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนโรงไฟฟ้ากระจายในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งต้องการให้ กกพ.พิจารณาเรื่องการเพิ่มข้อกำหนดให้ชุมชนมีส่วนได้ผลประโยชน์มากกว่านี้ นอกเหนือจากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า เนื่องจากนายทุนมาใช้พื้นที่ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชน ดังนั้นทำอย่างไรที่ชุมชนจะสามารถรับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น อาจจะอยู่ในรูปแบบของการแบ่งปันผลประโยชน์ผ่านรัฐวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ฯ ไม่น้อยกว่า 2-3% ของรายรับค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าว ทาง กกพ.ควรใส่เพิ่มเติมในข้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก่อนเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้า

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ทางฝั่งผู้ประกอบการมองว่า ภาครัฐควรลดขั้นตอนการดำเนินการลง โดยเสนอให้กระทรวงมหาดไทย ควรเพิ่มเติมใน “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560” ซึ่งเห็นว่าคณะกรรมการจังหวัด ควรมีบทบาทหน้าที่ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น พร้อมคัดเลือกพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะก่อนเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูล เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการ จากปัจจุบันขั้นตอนดังกล่าวทางราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งยืดระยะเวลาทำประชาพิจารณ์จาก 6 เดือน ออกไปเป็น 1 ปี

[caption id="attachment_171374" align="aligncenter" width="503"] นายวีระพล จิรประดิษฐกุล นายวีระพล จิรประดิษฐกุล[/caption]

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมที่จะทยอยประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ราว 78 เมกะวัตต์ ตามกำหนดจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปลายปี 2562, การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) แบบ VSPP Semi-Firm จำนวน 269 เมกะวัตต์ ในต้นปี 2561 เพื่อ COD ในช่วงปี 2562 และการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 42 เมกะวัตต์ คาดว่าจะออกประกาศรับซื้อได้ในปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9