ครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิเพิ่มประโยชน์เช่าอสังหาฯ

09 ม.ค. 2561 | 10:20 น.
ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิเพิ่มประโยชน์และความคล่องตัวให้สัญญาเช่าอสังหาฯ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) (9 ม.ค. 61) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีทรัพย์อิงสิทธิ ซึ่งเป็นสิทธิอันเกิดจากการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินและห้องชุด โดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ" มีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการนำไปขาย โอน จำนอง เช่า ตลอดจนการตกทอดแก่ทายาทของผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ โดยมีระยะเวลาการใช้ประโยชน์ในทรัพย์อิงสิทธิไม่เกิน 30 ปี

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย
natta

"ถือว่าเป็นการปฏิรูปการเช่าครั้งใหญ่ เพราะที่ผ่านมาหากผู้เช่าเสียชีวิต สัญญาก็จะถือว่าสิ้นสุด และไม่สามารถถ่ายโอนได้...กฎหมายนี้ทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้นแก่ผู้ที่มีทรัพย์สินให้เช่า ช่วยให้เกิดความคล่องตัวขึ้น ในขณะที่ผู้เช่าเองก็จะมีสิทธิมากขึ้นทั้งในการเช่าช่วง การขาย การต่อเติมดัดแปลงได้"

นายณัฐพรกล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ มีดังนี้
1.กำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิ หมายความว่า การที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่มีโฉนด และเจ้าของห้องชุด บุคคลหนึ่ง เรียกว่า "ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ" ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า "ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ" มีสิทธิใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น และมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้ โดยผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิตกลงจ่ายค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์นั้นให้แก่ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ

2.กำหนดให้การให้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิ ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิและผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีกำหนดระยะเวลาการให้ทรัพย์อิงสิทธิไม่เกิน 30 ปี
3.กำหนดให้เมื่อมีการจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ โดยทำเป็นคู่ฉบับ 3 ฉบับ ซึ่งการออกหนังสือรับรองนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

4.กำหนดสิทธิของผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิไว้ ดังนี้
- ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิสามารถนำทรัพย์อิงสิทธิออกให้เช่า ขาย โอน หรือตกทอดแก่ทายาทได้ และนำไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจำนอง
- ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิสามารถดัดแปลง ต่อเติม ปลูกโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างได้ โดยมิต้องได้รับอนุญาตจากผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลง ให้ทรัพย์ซึ่งผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิได้ทำการดัดแปลง ต่อเติม หรือปลูกสร้างไว้ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

5.กำหนดหน้าที่ของผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิในกรณีต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อปัดป้องภยันตรายแก่อสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธิ หรือกรณีบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธิ หรือเรียกร้องสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธินั้น ให้ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิเป็นผู้มีหน้าที่จัดการและให้แจ้งเหตุให้ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิทราบโดยพลัน

6.กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดินในหมวด 4 การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และหมวด 6 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
7.กำหนดให้ รมว.มหาดไทย รักษาการตามกฎหมาย เนื่องจากการจดทะเบียนและการออกหนังสือรับรอง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว