มิวเซียมสยามเปิดตัว“นิทรรศการ ใจ ดู หู ฟัง#1 สัมผัสภาพพ่อด้วยหัวใจ”

08 ม.ค. 2561 | 07:34 น.
มิวเซียมสยาม จับมือสถาบันคนตาบอดแห่งชาติฯ เปิดตัว “นิทรรศการ ใจ ดู หู ฟัง สัญจรครั้งที่ 1” ชุด “สัมผัสภาพพ่อด้วยหัวใจ”นิทรรศการที่ไม่ต้องใช้ตาดูแต่สัมผัสถึงหัวใจ

มิวเซียมสยาม ร่วมกับ สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เปิดตัว นิทรรศการ “ใจ ดู หู ฟัง ครั้งที่ 1 : สัมผัสภาพพ่อด้วยหัวใจ” นิทรรศการที่ไม่ต้องใช้ตาดูแต่เรียนรู้ผ่านการฟังและการสัมผัส ให้ประชาชนร่วมน้อมรำลึกในพระบารมี พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภายในประกอบด้วย 2 ส่วนจัดแสดง ได้แก่ 1). ห้องจัดแสดงภาพและประติมากรรม : จัดแสดงภาพถ่าย ประติมากรรม ภาพนูนต่ำและแบบจำลองสามมิติ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ และ

 

muse3

2). ห้องฉายภาพยนตร์ : ฉายภาพยนตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ หรือพระราชดำรัส โดยได้รับความร่วมมือจาก สมาคมคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ในการพัฒนารูปแบบการสื่อสาร และบริการที่จำเป็นสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น อาทิ คำบรรยายอักษรเบรลล์ หูฟังเสียงบรรยายภาพ บทบรรยายภาพประกอบบทพูดสำหรับภาพยนตร์ เป็นต้น เปิดประสบการณ์การเที่ยวนิทรรศการแปลกใหม่ ซึ่งคนตาดีสามารถดูไปพร้อมๆ กับผู้พิการทางการมองเห็น ขยายโอกาสการไปยังผู้พิการทางการมองเห็น และส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้สำหรับคนทุกกลุ่มในสังคม

ทั้งนี้ นิทรรศการผ่านเสียงบรรยายภาพสัญจร “ใจ ดู หู ฟัง : สัมผัสภาพพ่อด้วยหัวใจ” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 21 มกราคม 2560 ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ ห้องนิทรรศการชั่วคราว มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan

 

muse1

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ใจ ดู หู ฟัง สัญจรครั้งที่ 1 ในชื่อชุด สัมผัสภาพพ่อด้วยหัวใจ นิทรรศการผ่านเสียงบรรยายภาพ เกิดจากความร่วมมือของมิวเซียมสยาม และ สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ประชาชนได้เปิดประสบการณ์การเที่ยวพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องอาศัยการมองเห็น เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยได้นำเนื้อหาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย

ภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วนจัดแสดง ได้แก่ ห้องจัดแสดงภาพและประติมากรรม ซึ่งได้จัดแสดงภาพถ่าย ประติมากรรม ภาพนูนต่ำและแบบจำลองสามมิติ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ ห้องฉายภาพยนตร์ เพื่อฉายภาพยนตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ หรือพระราชดำรัส จำนวน 5 เรื่อง สับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดเวลาทำการ ได้แก่ 1) ของขวัญ 2) พรจากฟ้า 3) เราเกิดในรัชกาลที่ 9 4) คุณทองแดง ดิ อินสไปเรชั่นส์ และ 5) พระมหาชนก

ทั้งนี้ วัตถุจัดแสดง และภาพยนตร์ที่นำมาฉาย ได้รับความร่วมมือในการพัฒนาและการสนับสนุน จากทั้งภาครัฐและหน่วยงานเอกชน ได้แก่ สถาบันคนตาบอดเพื่อการวิจัยและพัฒนา สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล สถานีโทรทัศน์ จีเอ็มเอ็ม วัน (GMM One) บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด (GDH 559) และบริษัท เซปทิลเลียน จำกัด

muse2

มิวเซียมสยามเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ไม่เพียงเฉพาะเนื้อหา และการสื่อสารภายในนิทรรศการ แต่รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ด้วยการออกแบบ สิ่งอำนวยสะดวก และบริการที่จำเป็นอื่นๆ อย่างการปรับปรุงอาคารนิทรรศการให้เอื้อต่อผู้พิการ ทางลาดสำหรับรถเข็น ลิฟต์โดยสาร ออดิโอไกด์บรรยายเนื้อหา ตลอดจนการออกแบบสื่อพิพิธภัณฑ์ให้ผู้เข้าชมสามารถหยิบจับ มีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ เพื่อลดทอนขีดจำกัดในการเข้าถึงของผู้มีความผิดปกติด้านต่างๆ ส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนำเสนอองค์ความรู้และรูปแบบของการจัดบริหารแหล่งเรียนรู้ ให้ตอบสนองคนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้พิการในด้านต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงและเรียนรู้ไปพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม มิวเซียมสยาม ยังได้หารือกับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด สำหรับการจัดนิทรรศการตามหลักการและรูปแบบเช่นเดียวกันนี้ สัญจรไปตามที่ต่างๆ ในอนาคต เพื่อเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้ไปยังผู้พิการทางการมองเห็น และผู้ที่สนใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ด้านนายกิตติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา กล่าวเสริมว่า ความพิเศษของนิทรรศการดังกล่าวคือ ไม่ต้องอาศัยการมองเห็น ผู้ที่มีสายตาปกติ หรือมีความบกพร่องทางการมองเห็นก็สามารถเข้าใจนิทรรศการได้พร้อมๆ กัน เนื่องจากสื่อภายในนิทรรศการทั้งหมด ได้รับการออกแบบให้เอื้อต่อผู้มีความบกพร่องทางด้านการมองเห็น ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น อาทิ คำบรรยายรูปแบบอักษรเบรลล์ หูฟังบริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description)

muse4

ภาพยนตร์ทุกเรื่องผ่านการจัดทำบริการบทบรรยายภาพเพิ่มเติมจากบทพูด ที่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น สามารถจินตนาการสภาพแวดล้อมและอากัปกิริยาของตัวละคร แม้ว่าจะเป็นผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ก็สามารถสัมผัสและเข้าถึงสาระสำคัญและรายละเอียดต่างๆ ได้เช่นเดียวกับผู้เยี่ยมชมคนอื่น ตลอดจนพื้นทางเดินของห้องจัดแสดงยังมีการติดตั้งแผ่นปูเตือน (Warning Block) ไว้ที่พื้นด้านหน้าสิ่งจัดแสดงสำหรับผู้พิการทางการมองเห็นโดยเฉพาะ เพื่อให้รับรู้ว่าบริเวณดังกล่าวจะมีสิ่งจัดแสดงตั้งอยู่

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6