ไม่ง้อการไฟฟ้า ผลิตบนหลังคา ปีนี้ผุด 500 MW

11 ม.ค. 2561 | 03:32 น.
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ในปี 2561 คาดจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (ไอพีเอส) เนื่องจากมีต้นทุนถูกลงมาก ซึ่งในปีนี้ประเมินตัวเลขต้นทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปลดลงเหลือเพียง 30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือประมาณ 3 บาทต่อหน่วย เทียบกับปี 2560 อยู่ที่ 35 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และลดจาก 2-3 ปีก่อนที่อยู่ที่ 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ในขณะที่ประเทศอินเดีย ที่มีโครงการขนาดใหญ่ ต้นทุนเหลือเพียง 1.4 บาทต่อหน่วย เท่านั้น

โดยปัจจุบันทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แจ้งว่า ตัวเลขการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) มีทั้งสิ้น 3,024 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์ม 2,627 เมกะวัตต์ ,โซลาร์รูฟท็อป 130 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นโซลาร์ราชการและสหกรณ์การเกษตร 267 เมกะวัตต์ นอกจากนี้กกพ.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโซลาร์รูฟท็อปที่อยู่นอกระบบ คาดว่าปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 70-80 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะติดตั้งในนิคมอุตสาหกรรมและโรงงาน คาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 เมกะวัตต์

“เนื่องจากมีผู้เข้ามาขอใบอนุญาตติดตั้งทุกเดือน ขณะที่โซลาร์รูฟท็อปที่ไม่ได้จดแจ้งในส่วนของนิคมอุตสาห กรรม หลังคาโรงงาน ซึ่งผลิตเองใช้เองก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนตอนนี้ลดลงมาก”

นอกจากนี้ยังไม่นับรวมโซลาร์รูฟท็อปเสรี ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

TP2-3329-1 นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เปิดเผยว่า ทิศทางโซลาร์รูฟท็อปในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น จากนโยบายของภาครัฐซึ่งทราบว่านายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ได้เข้ามาพิจารณารายละเอียดโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ที่คาดว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น Net Billing ที่สามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ แต่จะเปิดรับซื้อกี่เมกะวัตต์นั้น ยังต้องรอความชัดเจนต่อไป

ขณะที่การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีในรูปแบบผลิตเองใช้เอง(ไอพีเอส) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เตรียมเสนอเข้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป คาดว่าผู้ที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีแบบที่ไม่ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ จะไม่มีการจำกัดโควตา แต่อาจจำกัดเรื่องความสามารถในการเชื่อมต่อระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการโซลาร์รูฟท็อปในรูปแบบ Private PPA ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน ที่เช่าหลังคาลงทุนโซลาร์รูฟท็อปแล้วขายไฟฟ้าให้เจ้าของโครงการหรืออาคารนั้น ๆ ในราคาที่ถูกกว่าซื้อจากการไฟฟ้าฯ
ดังนั้น ด้วยต้นทุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ที่ปรับตัวลดลงมา 5-10% ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ตํ่ากว่า 40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ จึงคาดว่าในปีนี้ จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มสูงขึ้นในระบบ 300-500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีโซลาร์เซลล์(โซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์ม) เข้าระบบแล้วมากกว่า 2,600 เมกะวัตต์

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้มีเอกชนหลายรายเข้ามาในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อประบบ Private PPA ที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการันตีค่าไฟถูกกว่าการไฟฟ้าฯ 10% และคาดว่าแนวโน้มจะมีเอกชนเข้ามาในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นอีก ถือเป็นกลยุทธ์การแข่งขันอีกทางหนึ่งในการดึงดูดลูกค้าให้มาติดตั้ง

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด ในกลุ่มบริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (IES) กล่าวว่า ปัจจุบันโซลาร์รูฟท็อปได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งรูปแบบผลิตเองใช้เองที่นิยมติดตั้งในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมธุรกิจขนาดใหญ่ติดตั้งเพื่อใช้ไฟฟ้าเองและโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่กระทรวงพลังงานจำกัดโควตา สามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้

โดยแนวโน้มโซลาร์รูฟท็อปแบบผลิตใช้เองเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากกลุ่มโรงงานอุตสาห กรรมขนาดใหญ่ต้องการลดพีคไฟฟ้าในช่วงกลางวันที่มีอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย เทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าช่วงกลางคืนอยู่ที่ 2.90 บาทต่อหน่วย เพราะการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ถูกกว่า ส่งผลให้สามารถลดค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวได้ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าหลายล้านบาทต่อเดือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9