‘ธนชาต’เตือนรับมือภัยการเงินยุคใหม่

10 ม.ค. 2561 | 12:07 น.
แนวโน้มรูปแบบกลโกงและการก่ออาชญากรรมทางการเงินในยุคปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จากประชาชนจะต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เป็นการป้องกันทรัพย์สินเงินทองของตัวเองไม่ให้สูญหายด้วยแล้ว เจ้าหน้าที่ของธนาคารก็มีส่วนสำคัญในการระแวดระวังภัยให้กับลูกค้าของตัวเอง

กรณีล่าสุดที่พนักงานธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาถนนอุดรดุษฎี ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี สามารถช่วยเหลือ นางสาวโสภาวัลย์ แซ่ลิ้ม อายุ 74 ปี ให้รอดพ้นจากการสูญเงิน 5 แสนบาท จากแก๊งปลอมลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 จนได้รับคำชมเชยจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI)

นายสนอง คุ้มนุช รองกรรมการผู้จัดการ สายเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีนี้เกิดจากความเอาใจใส่ของพนักงาน ที่สังเกตเห็นเหยื่อที่เป็นลูกค้าประจำของธนาคารเบิกเงินผิดปกติวิสัย จึงได้ทำการตรวจสอบและทักท้วงจนทราบว่าถูกแก๊งต้มตุ๋นหลอกลวงเข้าให้แล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้าและพนักงาน

“ธนาคารได้กำชับพนักงานเจ้าหน้าที่สาขาให้ติดตามดูแลและเฝ้าระวังธุรกรรมน่าสงสัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงแนะนำให้ความรู้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องถึงกลยุทธ์กลโกงรูปแบบใหม่”

สิ่งที่ธนาคารตรวจพบรูปแบบภัยทางการเงิน และต้องนำมาเตือนถึงลูกค้าและประชาชน อย่าหลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อและจะกลายเป็นผู้ต้องหาได้ ซึ่งก็มีหลายช่องทาง

MP23-3329-A 1.การรับจ้างเปิดบัญชี เป็นการทุจริตจากแก๊งหลอกลวงให้ชาวบ้านเปิดบัญชีใหม่ เพื่อเป็นบัญชีไว้สำหรับฟอกเงินหรือโอนเงินผิดกฎหมายจากการหลอกลวงของแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ (Call Center) ที่เป็นแก๊งต่างชาติ

กรณีนี้ตรวจพบว่ามีการรับจ้างเปิดบัญชีดังกล่าวในภาคเหนือติดชายแดน มากกว่า 100 ราย ซึ่งผู้ที่ถูกรับจ้างจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากการเปิดบัญชีเฉลี่ยรายละ 10,000 บาท

ธนาคารสังเกตเห็นถึงความผิดปกติจากการเปิดบัญชี ทั้งในส่วนของขั้นตอนกระบวนการสอบถามของเจ้าหน้าที่สาขา เช่น เปิดบัญชีไว้เพื่ออะไร และการเข้ามาเปิดบัญชีพร้อมๆกันหลายรายในเวลาเดียวกัน เป็นต้น ธนาคารจึงสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายได้

2.แก๊งสร้างบัญชีปลอม หรือ Statement ปลอม โดยแก๊งจะรับจ้างฝากเงิน-ถอนเงิน เพื่อให้บัญชีมีการเคลื่อนไหวของธุรกรรมทางการเงิน เพื่อนำบัญชีการเคลื่อนไหวดังกล่าวไปขอสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่การวิเคราะห์สินเชื่อจะง่ายกว่าสินเชื่อประเภทอื่น โดยจะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) มากกว่าธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการเข้าถึงสินเชื่อของนอนแบงก์จะง่ายกว่าธนาคารพาณิชย์ ทำให้การสร้างบัญชีปลอมระบาดเช่นเดียวกัน

3.นำเช็คเงินสด มาขึ้นเงินกับธนาคาร โดยเจ้าของบัญชีกับผู้มาขึ้นเงินเป็นคนละคน แต่มีหลักฐานครบ เช่น บัตรประชาชนที่ตรงกับหน้าเช็ก ซึ่งไม่รู้แหล่งที่มาของเช็ค ว่าได้มาด้วยวิธีใด ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าชื่อตรงกับบัตรประชาชนจึงทำธุรกรรมให้ ซึ่งบางครั้งแก๊งมิจฉาชีพปลอมตัวเข้ามาทำธุรกรรม โดยการปิดบังใบหน้าโดยการสวมมาสก์หรือใส่แว่น ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถมองได้ชัดเจน เมื่อการตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้นครบจึงยอมให้ทำธุรกรรมได้
4.กระแสโซเชียลมีเดีย จะมีแก๊งมิจฉาชีพรับจ้างกดไลก์หรือเพิ่มยอดติดตาม ทำให้มีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการหลอกลวงอีกประเภทหนึ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

5.ภัยทางออนไลน์ ช่องทางนี้ป้องกันได้ยากที่สุด ช่องทางที่ได้รับความนิยมคือ

5.1สร้าง E-mail ธนาคารปลอม เพื่อให้ลูกค้าเข้ามากดทำธุรกรรมโดยป้อนข้อมูลส่วนตัวลงไป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องเตือนพนักงานและกำชับลูกค้าให้สังเกตและเพิ่มความระมัดระวังก่อนทำธุรกรรมหรือป้อนข้อมูลส่วนตัวลงไป

5.2 ผ่าน Mobile Banking ที่ปัจจุบันสามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็วเพียงรู้รหัส ลูกค้าจะต้องระมัดระวังเรื่องของรหัสการทำธุรกรรม หรือการสังเกตรายการเตือนเวลาการทำธุรกรรมว่าตรงกับธุรกรรมที่ทำอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นการป้องกันเบื้องต้นของลูกค้า เนื่องจากธุรกรรมบางรายการหากตรวจพบว่าเป็นความผิดพลาดของลูกค้าเอง ธนาคารหรือสถาบันการเงินในระบบอาจจะไม่ได้รับผิดชอบทั้งหมด

“ตอนนี้รูปแบบการก่ออาชญากรรมทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมภัยการเงิน จะเป็นเรื่องของการปล้นธนาคาร แต่ตอนนี้ไม่ใช่เป็นการปล้นผ่านไซเบอร์ ซึ่งภัยไซเบอร์ก็มาหลายรูปแบบการปลูกฝังพนักงานและองค์กร ให้รู้จักลูกค้าและสังเกตพฤติกรรมลูกค้า เฝ้าระมัดระวังภัยทางการเงินรูปแบบใหม่ๆที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตือนลูกค้าและตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9