‘ชาติศิริ’พาแบงก์กรุงเทพ รอดเงื้อมมือ ดิจิตอลไล่ล่า

11 ม.ค. 2561 | 06:23 น.
ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ฉับไว สถาบันการเงินที่มีบทบาทในระบบการเงิน ต่างพากันปรับตัวรับมือกับการแข่งขันในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะธนาคารอันดับ 1 ของไทยไม่อาจอยู่เฉยได้

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”เป็นกรณีพิเศษ สะท้อนมุมมองและตีโจทย์การเปลี่ยนแปลงของ “Digital Banking” หลังจากนี้และการรับมือของระบบสถาบันการเงินไทยในภาพรวม

[caption id="attachment_248128" align="aligncenter" width="503"] ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ[/caption]

ซีอีโอธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา ถือเป็น “ปีแห่งความท้าทาย” ต่อการปรับตัวของทุกๆอุตสาหกรรมเมื่อมี Digital Technology เข้ามา Disrupt ทุกธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งในธุรกิจธนาคาร เมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามาเปลี่ยนโลกการทำธุรกรรมอย่างสิ้นเชิง เปลี่ยนสังคมที่เคยใช้เงินสดให้มาอยู่บนธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนวิธีการทำธุรกรรมให้ทุกคนสามารถทำได้เองง่ายๆ สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา บนช่องทางดิจิตอล แทนการไปสาขานำมาสู่ปรากฏการณ์ธนาคารทยอยลดจำนวนสาขาอย่างต่อเนื่อง

“ภาพความเป็น Digital Banking เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในภาคการธนาคารช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการ จำนวนธุรกรรมและมูลค่าธุรกรรมโดยเฉพาะธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking ที่ขยายตัวสูงมากถึง 45-124% และเชื่อว่ายังมีโอกาสจะเติบโตต่อไปได้อีกมหาศาล”

นายชาติศิริ กล่าวว่า 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “Digital Banking” เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ 1.พฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว เป็นตัวแปรสำคัญ โดยที่ Digitalization มาสอดรับกับความต้องการดังกล่าว ธนาคาร ก็ต้องปรับตัวให้เรื่องการเงินสอดคล้องและกลมกลืนกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคให้ได้ ซึ่งต่อไปก็ต้องพัฒนาระบบให้มั่นคงยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น

จากนี้ไปจะเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในโลกการเงินมากขึ้น เช่น Blockchain หรือการใช้ Big Data Analytics และ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยวิเคราะห์และทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง รวมถึงมี Digital Identification (Digital ID) Platform ที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ “การรู้จักลูกค้าด้วยวิธีอิเล็ก ทรอนิกส์” หรือ Electronic Know Your Customer (e-KYC) เพื่อยืนยันตัวตนลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว น่าจะเกิดขึ้นในไทยได้ในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน

ปัจจัยที่ 2 นโยบายภาครัฐ ตามแผนภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เป็นอีกแรงผลักดันให้เกิดการชำระเงินผ่านระบบ “พร้อมเพย์” และแผ่ขยายไปสู่การทำธุรกรรมด้วยรูปแบบต่างๆ อย่าง QR Code ซึ่งช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจทุกขนาดเข้ามาสู่ระบบพร้อมเพย์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

จากโจทย์ที่เกิดขึ้นและการเดินหน้าในปี 2561 นายชาติศิริ ยํ้าว่า ธนาคารกรุงเทพยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา Digital Banking อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยทุกที่ทุกเวลา
ธนาคารจะมีบริการออนไลน์ เป็นช่องทางหลักสำหรับทำธุรกรรมต่างๆ เพราะสำหรับธนาคารกรุงเทพแล้ว Digital Banking ยังครอบคลุมการให้บริการไปถึงลูกค้าธุรกิจ ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของธนาคาร เช่น บริการ Bualuang iSupply ที่เป็นบริการการเงินออนไลน์ครบวงจรสำหรับการค้า บริการบิซ ไอแบงกิ้ง ที่ช่วยให้ลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถโอนเงิน จ่ายเงินเดือนพนักงาน ชำระค่าสินค้าและบริการ ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือได้ง่ายๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต

ส่วนลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารก็มีบริการคอร์ปอเรตไอแคช เพื่อช่วยบริหารสภาพคล่องของธุรกิจ สามารถตรวจสอบรายงานทางการเงิน คาดการณ์กระแสเงินสด ตลอดจนทำธุรกรรมการเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ และส่งข้อความไปยังลูกค้าและผู้ผลิตได้ด้วย

นอกจาก Digitalization แล้ว สังคมไทยยังเผชิญกับ Urbanization หรือการเติบโตของสังคมเมืองในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกจากส่งผลให้ลูกค้ามีความต้องการทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยแล้ว ยังต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคตอีกด้วย

ขณะเดียวกันนายชาติศิริ ยืนยันว่าการเกิดของ “สตาร์ตอัพประเภทฟินเทค” นั้น ธนาคารไม่ได้มองฟินเทคเป็นคู่แข่ง แต่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจมองข้าม เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้านนวัตกรรมต่างๆ อันมีผลต่อการใช้บริการทางการเงินของธนาคาร

ดังนั้นธนาคารเลือกจะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกันกับฟินเทคมากกว่า จึงได้จัดโครงการ “Bangkok Bank InnoHub” เพื่อคัดเลือกฟินเทคต่างๆ จากทั่วโลก มาบ่มเพาะและพัฒนาบริการต่างๆ ร่วมกัน เช่น บริการด้าน Wealth Management ระบบรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมผ่านมือถือ บริการโอนเงินผ่าน Blockchain บริการทางการเงินสำหรับเอสเอ็มอี และระบบ Digital Invoice Trading ซึ่งล้วนเป็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับโลกการเงินในอนาคต

“การเป็น Digital Banking นอกจากธนาคารจะต้องก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของ Digital Technology จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนา บุคลากร ให้เข้าใจและพร้อมปรับตัวเข้ากับโลกการเงินในยุคใหม่ด้วย ซึ่งธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและกระตุ้นให้บุคลากรตื่นตัวที่จะเรียนรู้กับ Digital Technology พัฒนาขีดความสามารถให้สูงขึ้นเพื่อให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9