เปิดโมเดลจีนแก้จน (จบ) ‘ให้เบ็ด ดีกว่าให้ตัวปลา’

09 ม.ค. 2561 | 23:15 น.
TP6-3329-1B ขณะที่ทั่วโลกกำลังชื่นชมรัฐบาลจีนที่สามารถช่วยให้ประชากรผู้ยากไร้หลุดพ้นจากความยากจนได้ถึง 60 ล้านคนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้นโยบาย “การช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างตรงจุด” และประเทศไทยกำลังจะยึดจีนเป็นต้นแบบในการนำมาแก้ไขปัญหาคนยากจนในประเทศให้หมดไปเช่นเดียวกัน

แต่ในรายงาน แนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในระยะยาว ภายใต้ชื่อ Riding the wave : An East Asian Miracle for the 21st Century ของธนาคารโลกล่าสุดกลับชื่นชมไทยว่าสามารถจัดการกับความยากจนได้เก่ง จนติดในกลุ่มแรกคือ เป็นกลุ่มที่เริ่มหลุดพ้นจากความยากจนและกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่ง ซึ่งมีเพียงไทยและมาเลเซียเท่านั้น

ขณะที่จีนอยู่ในกลุ่มรองลงมาคือ เป็นประเทศที่ออกจากความยากจน ซึ่งกลุ่มนี้มี 3 ประเทศคือ จีน มองโกเลีย และเวียดนาม อาจเพราะหากเทียบจำนวนประชากร60ล้านคนที่หลุดพ้นจากความยากจนนั้นสัดส่วนเพียง 0.6% จากประชากรทั้งหมด 1,400 ล้านคน

ในรายงาน ธนาคารโลกแบ่งผู้ยากจนออกเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1ยากจนที่สุดมีรายได้ตํ่ากว่า 23.33 บาทต่อวันต่อคน กลุ่มที่ 2 จนปานกลาง มีรายได้ระหว่าง 23.33-38.07 บาทต่อวันต่อคน กลุ่มที่ 3 เสี่ยงที่จะจน มีรายได้ 38.07-67 บาทต่อวันต่อคนกลุ่มที่ 4 มีความมั่นคงในเศรษฐกิจระดับหนึ่งมีรายได้ 67-184 บาทต่อวันต่อคน และกลุ่มที่ 5 คือ ระดับปานกลาง มีรายได้มากกว่า 184 บาทต่อวันต่อคน

TP6-3329-2B ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมาพบว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนในเอเชียเองมีความคืบหน้ามากสามารถทำให้ประชากรใน 2 กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ยากจนที่สุดและจนปานกลางหายไป และสัดส่วนประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นและเป็นกลุ่มที่ซื้อหนักมากเช่นกัน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเอง ก็ออกมาระบุว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนจนของไทยหายไปจาก 11 ล้านคนเหลือเพียง 7 ล้านคน และจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับบัตรสวัสดิการรัฐล่าสุด รัฐบาลใช้เกณฑ์ผู้มีรายได้ตํ่ากว่า 1 แสนบาทต่อปี พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 11.4 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลกำลังจะหาทางแก้ไขให้หลุดพ้นจากความยากจน

หลังจากเฟสแรกที่กลุ่มคนทั้ง 11.4 ล้านคนได้รับการดูแลค่าครองชีพเบื้องต้นในเรื่องการซื้อเครื่องใช้อุปโภคบริโภคและการเดินทาง เฟสต่อไปที่รัฐบาลจะต้องดูแลคือ การฝึกอาชีพ เพิ่มความสามารถเพื่อสร้างรายได้ นำมาเลี้ยงดูครอบครัวได้ เพื่อเป็นการแก้ไขความยากจนอย่างยั่งยืน ก่อนที่จะมีการลงทะเบียนรอบใหม่ในปี 2562

โจทย์สำคัญของการช่วยเหลือคนจนรอบนี้มี 4 มิติคือ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทางการ โอกาสในการศึกษา โอกาสในการสร้างอาชีพและสนับสนุนให้มีงานทำ และโอกาสในการเป็นเจ้าของปัจจัย 4 เพราะถ้าคนเราได้รับโอกาสทั้ง 4 ด้านแล้วเชื่อว่า จะทำให้หลุดพ้นจากความยากจนได้

ดังนั้นจึงเป็นมาตรการชุดใหญ่ที่บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลท้องถิ่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย ไม่ใช่มาตรการที่ออกมาว่าดีเพียงพอแล้วหรือไม่ แต่อยู่ที่ขั้นตอนปฏิบัติว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะจริงจังและตอบโจทย์ครบ 4 ด้านหรือไม่ ที่สำคัญคือกลุ่มเป้าหมาย 11.4 ล้านคน จะเต็มใจร่วมเดินหน้าให้หลุดพ้นความจนนี้หรือไม่

“มาตรการแก้จนครั้งนี้ จะไม่ใช่ยื่นปลาให้อีกต่อไปแต่เป็นการให้เบ็ดเพื่อไปหาปลาแทน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9