‘มิสทิน’ทรานส์ฟอร์ม เริ่มต้นธุรกิจขายตรง สู่มัลติแชนเนลแบรนด์

08 ม.ค. 2561 | 09:41 น.
ยกเครื่อง “มิสทิน” พลิกโฉมจากธุรกิจขายตรง สู่ “เครื่องสำอางมัลติแชนเนลแบรนด์” ปักหมุดรุกทุกช่องทางทั้งขายตรง ค้าปลีก ออนไลน์ และต่างประเทศ ชูหัวใจระบบซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ หนุนการเติบโต หลังลงทุน 2,000 ล้านผุด “เบทเตอร์แลนด์” มั่นใจโรดแมปปี 2561 ดันยอดขายโต 5% ทะลุ 1.5 หมื่นล้าน

“มิสทิน” แบรนด์ไทยผู้บุกเบิกธุรกิจขายตรงให้เป็นที่รู้จัก จากจุดเริ่มต้นในปี 2531 ที่ “อมรเทพ ดีโรจนวงศ์” ผู้ก่อตั้ง ได้เริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการจัดจำหน่ายในรูปแบบของการขายตรง มาถึงวันนี้ 30 ปีเต็มภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ถูกปรับเปลี่ยน ไปสู่การเป็น “มัลติแชนเนลแบรนด์” ด้วยการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านทุกช่องทาง เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และไม่เพียงแต่ทำตลาดภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างการเติบโตในตลาดภูมิภาค รวมถึงตลาดต่างประเทศที่สำคัญและมีศักยภาพอีกหลายแห่งด้วย

นายดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อแบรนด์มิสทิน ก้าวจากธุรกิจขายตรง สู่การเป็น “เครื่องสำอางสำหรับทุกช่องทาง” (Multi Channel Cosmetic) ซึ่งในอนาคตแต่ละช่องทางที่จัดจำหน่ายสินค้า จะมีเครื่องสำอางที่ไม่ซํ้าซ้อนกัน เมื่อช่องทางนั้นมียอดขายที่ใหญ่มากพอ เช่น ตลาดในประเทศจีน ที่ขณะนี้เริ่มมีสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น หรือแม้แต่ในช่องทางออนไลน์ หากไม่สามารถสร้างยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะมีการผลิตสินค้าจำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

MP36-3329-A ปัจจุบันช่องทางการจัดจำหน่ายของมิสทิน ประกอบด้วย 1. ช่องทางขายตรงผ่านสาวมิสทิน 2. ช่องทางค้าปลีก อาทิ ร้านตัวแทนจำหน่าย และร้านบิวตี้ช็อปต่างๆ 3.ช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์มาร์เก็ต เพลส ได้แก่ ลาซาด้า และคอนวี่ ซึ่งภายในปีนี้จะขยายไปยังช่องทางมาร์เก็ตเพลสใหม่ๆ อาทิ เจดีดอทคอม เป็นต้น การเปิดแอพพลิเคชัน “นิ้งหน่อง” เพื่อใช้สำหรับให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรง และ 4. ช่องทางต่างประเทศ ที่ปัจจุบันขยายตลาดไปทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และตะวันออกกลาง โดยมีตลาดสำคัญอยู่ในประเทศจีน

หากย้อนดูเส้นทางการก้าวสู่การเป็นมัลติแชนเนลแบรนด์ของมิสทินนั้น จะพบว่ามิสทินได้ผ่านเส้นทางของการเตรียมความพร้อมในเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ นับตั้งแต่นายดนัยเข้ามารับหน้าที่บริหารงานต่อจากบิดา คือ ดร.อมรเทพ ดีโรจนวงศ์ ผู้ก่อตั้งธุรกิจ โดยเริ่มตั้งแต่การขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ที่เริ่มต้นในประเทศเมียนมาเป็นประเทศแรก ซึ่งเพียงปีแรกที่เข้าไปทำตลาดสามารถสร้างยอดขายได้มากถึง 60 ล้านบาท ก่อนที่จะขยายตลาดไปยังเวียดนาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว ตะวันออกกลาง จีน และอีกหลายประเทศ ในช่วงปลายปี 2560 ยังลงทุน 30-40 ล้านบาทเพิ่มออฟฟิศแห่งที่ 3 ในประเทศจีน และมีแผนจะขยายแห่งที่ 4 ต่อไปได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายตลาดในประเทศไต้หวันและฮ่องกง ในปี 2561 นี้ด้วย

ขณะที่ช่องทางออนไลน์นั้น นายดนัย ได้มองเห็นแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะใช้ชีวิตผูกติดกับโลกออนไลน์มากขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ จึงได้เริ่มต้นจับมือกับค่ายมือถือเอไอเอสในช่วงปี 2551 เพื่อนำนวัตกรรมการชำระสินค้ามิสทินผ่านโทรศัพท์มือถือ ในช่องทางเอ็มเพย์มาให้สาวมิสทินได้ใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ก่อนที่ปี 2559 จะได้เปิดตัวแอพพลิเคชัน “ยุพิน” ที่เป็นระบบแค็ตตาล็อกออนไลน์ ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับสาวมิสทินในการขายสินค้า หลังจากนั้นยังได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเข้าไปในเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสที่สำคัญอย่าง ลาสซาด้า และคอนวี่ เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ขณะที่ล่าสุด เปิดตัวแอพพลิเคชัน “นิ้งหน่อง” ที่เป็นแอพพลิเคชันสำหรับการซื้อขายสินค้ามิสทินได้โดยตรง ซึ่งเป็นการขยายช่องทางออนไลน์สำหรับการเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป

เส้นทางที่สำคัญสู่การเป็น “มัลติแชนเนลแบรนด์” ของมิสทินนั้น หัวใจสำคัญที่ นายดนัยมองเห็นและวางไว้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือ ระบบซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ ในช่วงปี 2556 บริษัทจึงได้ลงทุน 2,000 ล้านบาท ก่อสร้าง ศูนย์กระจายสินค้าเบทเตอร์แลนด์ (Betterland Distribution Center) เป็นศูนย์กระจายสินค้าและคลังเก็บสินค้า มีพื้นที่กว่า 70 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ช่วยจัดระบบใบสั่งซื้อสินค้าที่มีมากมายกว่า 3-5 หมื่นออร์เดอร์ต่อวัน ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตรงต่อเวลา ซึ่งศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าว สามารถรองรับกับยอดขายธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องได้กว่า 10 ปี

“สิ่งที่เราต้องทำคือควบคู่กับมัลติแชนเนลแบรนด์ คือ ระบบซัพพลายเชน เรามีทีมซัพพลายเชนค่อนข้างแข็งแรง เพราะการบริหารต้นทุนสินค้า สต๊อกสินค้า เป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องจับทุกมูฟเมนต์ ช่องทางไหนขายดี ขายไม่ดี และสินค้าที่อยู่ในคลัง หรือโพรเซสการสั่งซื้อ ที่ควบคู่กับการขยายตลาดไปในหลายช่องทาง เรามีเบทเตอร์แลนด์ ที่สามารถรองรับธุรกิจได้เป็น 10 ปี”

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2561 บริษัทได้เตรียมขยายช่องทาง การตลาดที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุน 20 ล้านบาท เพื่อขยายร้านบิวตี้ช็อป อีก 20 แห่ง จากปัจจุบันมี 20 แห่ง การเพิ่มช่องทางออนไลน์ในเว็บมาร์เก็ตเพลสที่เปิดให้บริการใหม่ การขยายตลาดในช่องทางค้าปลีกในประเทศไต้หวันและฮ่องกง การบุกตลาดออนไลน์ในประเทศจีน และการขยายตลาดในร้านขายยาของประเทศอินโดนีเซีย

ด้านแผนการตลาดในปีนี้ได้เตรียมงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ที่ปีนี้จะมุ่งเน้นการโฆษณาแยกตามกลุ่มเป้าหมายที่ปัจจุบันมี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มเอจจิ้ง ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ 5% จากปีที่ผ่านมามียอดขายประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยการเติบโตหลักจะมาจากตลาดต่างประเทศและช่องทางออนไลน์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9