PIM เร่งเสริมคุณภาพ ปั้นแรงงานป้อนยุค4.0

11 ม.ค. 2561 | 08:46 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“PIM” เร่งปรับแผน ปรับหลักสูตร เพิ่มคุณภาพบัณฑิตตอบโจทย์ตลาดแรงงานไทย หลังพบยังขาดบุคลากรด้านไอที ไม่สอดรับการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ที่ประเทศไทยก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีและดิจิตอล สิ่งที่ตลาดแรงงานในไทยยังขาดแคลนมากที่สุด คือ บุคลากรที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีด้านไอที ที่สามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเทคโนโลยี แม้ว่าจะมีบุคลากรด้านนี้อยู่เป็นจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนน้อยที่จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

[caption id="attachment_248014" align="aligncenter" width="335"] พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)[/caption]

สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การที่คนจะสามารถหลอมรวมความรู้ในหลายๆ ด้านเข้าด้วยกันและสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างไม่มีวันหยุด สถาบันการศึกษาเป็น ส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างบุคลากรให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการ การเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ เนื่องจากหลังจากที่นิสิต นักศึกษาเรียนจบไป โอกาสที่จะกลับมาเรียนรู้แบบเต็มเวลาเป็นเรื่องยาก และไม่มีทางที่สถาบันการศึกษาจะสามารถสอนนิสิต นักศึกษาให้สามารถรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ดังนั้นรูปแบบหลักสูตรการสอนจึงจะต้องสอดแทรกแนวคิด คอนเซ็ปต์ ที่ให้นักศึกษารู้จักพัฒนาตนเองได้อยู่ตลอดเวลา ฝึกนิสัยใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่า Self-Learning

“อุตสาหกรรมในประเทศ ไทยยุค 4.0 ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องของ หุ่นยนต์อัตโนมัติ และการขนส่งโลจิสติกส์ ล่าสุดสถาบันใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท สร้างแล็ปและห้องเรียนที่ทันสมัย รองรับ 2 สาขาวิชาที่เพิ่งเปิดทำการเรียนการสอนไปเมื่อปีการศึกษาก่อน ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่กำลังจะเข้าสู่ยุคดิจิตอล โดยเฉพาะการป้อนบุคลากรเข้าสู่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรืออีอีซี” นายพรวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าวันนี้ผู้ที่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนลดลงจากเมื่อ 10 ปีก่อน เนื่องจากมีเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยเพียง 6 แสนคน จากเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีอยู่ราว 1 ล้านคน ส่งผลให้การแข่งขันในการรับนิสิตนักศึกษาเข้าสู่มหาวิทยาลัยจึงสูง ประกอบกับมหาวิทยาลัยรัฐบาลหลายแห่งเริ่มเปิดรับนักศึกษาจำนวนมากขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนเด็กที่เกิดมา ดังนั้นสิ่งที่เป็นแต้มต่อแต่ละสถาบันการศึกษาคือ การชูเรื่องคุณภาพของบุคลากรเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไป

“ปีนี้พีไอเอ็มก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 มีนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี โดยปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งสิ้นกว่า 1.5 หมื่นคน สำหรับปีการศึกษาหน้าคาดว่ามีจำนวนไม่ตํ่ากว่า 1.7 หมื่นคน จากหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ทั้งหมด 10 คณะ 26 สาขา ปริญญาโท 4 สาขา ปริญญาเอก 1 สาขา และยังมีวิทยาลัยนานาชาติอีก 2 คณะ โดยสิ่งที่แตกต่างกว่ามหาวิทยาลัยอื่นคือ การเปิดหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด 4.0 และในอนาคตมีแผนเปิดหลักสูตรที่หลอมรวมองค์ความรู้หลากหลายวิชาทั้งสายนิเทศศาสตร์และวิศวกรรมเข้าด้วยกัน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9