ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ขับคันนี้จะไปไหนก็ได้

08 ม.ค. 2561 | 10:46 น.
รถประเภท “พีพีวี” หรือเอสยูวีที่พัฒนาบนพื้นฐานปิกอัพ ในเมืองไทยถ้าบ้านไหนมีขับต้องบอกว่าโก้ไม่หยอกครับ ด้วยรูปร่างมหึมา ตัวถังยกสูง อเนกประสงค์ เบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง หรือตัวท็อปก็มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อพร้อมลุยในทุกสถานการณ์

mp33-3329-1a ด้วยยอดขายต่อปีระดับครึ่งแสนคัน อย่างปี 2559 ปิดไป 5.3 หมื่นคัน ส่วนปี 2560 นับแค่ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.60)ทำได้ 5.1 หมื่นคัน (ไม่รวมเอสยูวีบนพื้นฐานรถยนต์นั่ง) นำโดย โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์, มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต,อีซูซุ มิว-เอ็กซ์, ฟอร์ด เอเวอเรสต์ และเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ซึ่งแต่ละรุ่นมีบุคลิกแตกต่างในสไตล์ของตนเอง ด้วยขุมพลัง เกียร์ ระบบขับเคลื่อน และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก-ความปลอดภัย

ส่วนพีพีวีมหาเทพ “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” ผมมองว่านี่เป็นรถระดับท็อปคลาส สมรรถนะช่วงล่าง การควบคุม ไม่เป็นรองใคร พร้อมสลัดอารมณ์ของปิกอัพที่ใช้โครงสร้างบอดี้ออนเฟรม (ตัวถังวางอยู่บนแชสซีส์) ไปเสียสิ้น

mp33-3329-2a แน่นอนว่านี่คือเอสยูวี คันใหม่ที่ฟอร์ดตั้งใจปั้นให้เป็นรถยนต์อีก 1 คัน ซึ่ง 1 รางวัลที่การันตีคุณภาพคือ ตำแหน่งรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2558 ของสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย โหวตโดยนักข่าวสายรถยนต์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการ

ช่วงปลายปี 2560 อากาศกำลังเย็นสบาย ผมมีโอกาสติดสอยห้อยตามคาราวาน “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” ไปตะลุยลาวใต้ งานนี้จัดตัวท็อป “ไททาเนียม พลัส” ที่มีออพชันเด่นๆ อย่างหลังคาพาโนรามิกซันรูฟ ประตูหลังควบคุมการเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า เบาะนั่งแถว 3 พับเก็บให้เรียบได้ด้วยระบบไฟฟ้า ระบบควบคุมความเร็วและรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าอัตโนมัติ ระบบควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ ถุงลมนิรภัย 7 จุด และระบบขจัดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร (ตรวจจับด้วยไมโครโฟน 3 ตัวฝังบนหลังคา และใช้เสียงของลำโพงจัดการกับคลื่นเสียงความถี่ตํ่า)

mp33-3329-6a ทริปนี้ขับกันยาวๆ อย่างวันแรกก็ประมาณ 300 กิโลเมตร จากสนามบินอุบลราชธานี ข้ามด่านที่ช่องเม็ก ไปยังแขวงจำปาสัก แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว ผ่านทางดำถนนดี (เข้าลาวแล้วขับรถชิดขวา) ทางฝุ่นหนาๆ ผ่านลำห้วยเล็กๆ 3 แห่ง จนไปถึงไฮไลต์ที่นํ้าตกแซปองไล สถานที่อันซีนแห่งใหม่ของ สปป.ลาว

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2-2-503x69 นํ้าตกแซปองไลช่วงที่คาราวานของพวกเรามาเยือน นํ้ายังเยอะครับ แต่คนท้องถิ่นแจ้งว่า ถ้ามาช่วงนํ้าเต็มๆ (ก่อนหน้านั้น)จะอลังการนํ้ากระจายกว่านี้มาก

อย่างไรก็ตาม ถ้ามาในช่วงพีกของนํ้าตก การขับรถผ่าน 3 ห้วยดังกล่าว นํ้าอาจจะเยอะและข้ามลำบากสักหน่อย ซึ่งในความจริง “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 5 สูบ 3.2 ลิตร เทอร์โบ 200 แรงม้า แรงบิด 470 นิวตัน-เมตร ประกบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา Terrain Management ขณะที่ระยะตํ่าสุดจากพื้น 225 มิลลิเมตร และเคลมว่าสามารถลุยนํ้าได้ที่ลึกสูงสุดที่ 800 มิลลิเมตร ผมว่าไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง

mp33-3329-3a พีพีวีคันนี้ แม้ตัวถังจะใหญ่โตแต่การควบคุมนั้นง่ายสบายมือด้วยพวงมาลัยแบบผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วงล่างหน้าอิสระแบบคอยล์-โอเวอร์-สตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ช่วงล่างหลังแบบคอยล์สปริงพร้อมวัตต์ลิงค์(คอยดึงเพลาที่โยนตัว ให้กลับมาสมมาตรกับถนนในแนวนอน) ประกบล้ออัลลอยขนาด 20 นิ้ว การเกาะถนนหนึบแน่น และอาการสะท้านสะเทือนจากพื้นถนนเข้ามาภายในห้องโดยสารน้อย

...เรื่องของช่วงล่าง ทั้ง คนขับ คนนั่ง ชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันหมด

mp33-3329-4a Extraordinary Adventure with Ford Everest_03_(2) ขณะเดียวกัน ทริปนี้นั่งกันไป 4 คน บรรทุกของเต็มลำ พร้อมเต็นท์นอนบนหลังคา ซึ่งที่ผมชอบคือ “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” มีช่องเก็บของและที่วางแก้วนํ้าเยอะทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมช่องเสียบ USB ช่องต่อไฟ 12V และปลั๊กตัวเมีย 230V งานนี้ 4 คนไม่ต้องแย่งกันชาร์จ ทั้งโทรศัพท์ ไอแพด โน้ตบุ๊ก วิทยุสื่อสาร

รวบรัดตัดความ...ทริปนี้ เส้นทางอาจจะไม่โหดมากเมื่อเทียบกับสมรรถนะของ “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” ที่ผมว่าสามารถลุยได้หนักกว่านี้ แต่ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการแสดงให้เห็นว่า การจ่ายเงินระดับ 1.769 ล้านบาท จริงๆ แล้วรถคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่ง “เอเวอเรสต์” ก็สุดยอดเหมือนชื่อยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกนั่นละครับ

Retouch_077 Retouch_006 Retouch_002 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9