รัฐตัดถนน 4 เลน-ท่าเรือน้ำลึก ปลุกค้าชายแดนระนองคึกคัก

09 ม.ค. 2561 | 23:15 น.
ผวจ.ระนองคาดปี 2561 เศรษฐกิจชายแดนระนองคึกคักหลังรัฐหนุนพัฒนาถนน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ชี้ถนน 4 เลนเชื่อมระนอง-ชุมพร และพัฒนาท่าเรือ นํ้าลึกเชื่อมขนส่ง-โลจิสติกส์

นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ในปี 2561 นี้จังหวัดระนองจะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ถูกจับตาอย่างแน่นอนเพราะคาดหมายว่าจะเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงหลังจากที่ทางรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมได้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดระนอง ทั้งโครงการก่อสร้างถนน 4 เลนเชื่อมเส้นทางจาก จังหวัดชุมพรเข้ามายัง จังหวัดระนอง เพื่อเชื่อมโครงข่ายการคมนาคมทางถนนรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาในการเป็นเมืองท่าการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน นอกจากนี้ทางกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยที่จะดำเนินการศึกษาเพื่อเตรียมการขุดร่องนํ้าบริเวณท่าเรือระนองให้มีความลึกเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายท่าเรือระนองให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาใช้บริการ อีกทั้งเตรียมพร้อมรับการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางทะเลเชื่อมสู่ท่าเรือทวายของเมียนมา และท่าเรือต่างๆ ในกลุ่มประเทศบิมสเทค โดยคาดว่าในอนาคตท่าเรือระนองจะเป็นท่าเรือที่มีบทบาทสำคัญในฝั่งทะเลอันดามัน

“นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติให้มีการพัฒนาท่าอากาศยานระนองเป็นท่าอากาศยานเพื่อการท่องเที่ยวและเตรียมที่จะขยายทางวิ่งในอนาคต เพื่อรองรับสายการบินมากขึ้น โดยในปี 2561 นอกจากสายการบินนกแอร์ที่เปิดให้บริการวันละ 2 เที่ยวบิน จังหวัดระนองจะมีสายการบินรายที่ 2ที่เข้ามาเปิดให้บริการเพิ่มอีกราย ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2561 สายการบินไทย แอร์เอเชีย จะเข้ามาเปิดให้บริการเส้นทางระนอง-กรุงเทพฯ-ระนอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจต่างๆ ในด้านชายแดนระนองเป็นอย่างดีทั้งการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน”

MP21-3329-1B นายจตุพจน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันจังหวัดระนองได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับการก่อสร้างท่าเรืออเนกประสงค์ที่บ้านเขานางหงส์ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การเป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน แต่พบว่ายังไม่สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพเนื่องจากบริษัทขนส่ง และบริษัทการเดินเรือยังไม่ให้ความสนใจ อันเป็นเพราะระบบการคมนาคมทางบกที่ยังไม่สะดวก ในขณะที่ท่าเรือระนองเป็นท่าเรือที่สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศกลุ่มบิมสเทค และตะวันออกกลางได้กว่า 10-15 วัน เมื่อเทียบกับท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่ากุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้จังหวัดระนองเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลฝั่งอันดามันได้นั้นจะต้องมีระบบรางเข้ามาช่วยรองรับและเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง ดังนั้นการที่กระทรวงคมนาคมเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้จังหวัดระนองมีความพร้อมในการเป็นเมืองท่าการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน

นางนฤมล ขรภูมิ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า สิ่งที่ทางภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอีกประการคือการผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมภาคใต้ตอนบนที่รัฐบาลเคยมีแนวคิดที่จะดำเนินการศึกษาเพื่อหาทางก่อสร้างรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน

นางนฤมลกล่าวต่อว่า ทางภาคเอกชนระนองสนับสนุนและเห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่เตรียมศึกษาก่อสร้างเส้นทางโครงการรถไฟทางคู่สาย กทม.-ประจวบฯ-ชุมพร-ระนอง-พังงา-กระบี่-ภูเก็ต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขนส่ง การเชื่อมโยงระบบการคมนาคม โครงข่ายโลจิสติกส์ และจะส่งผลต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

“รถไฟถือเป็นระบบการขนส่งมหภาคที่สามารถขนส่งคน และสินค้าได้ครั้งละมากๆ ทั้งยังประหยัดกว่าการขนส่งด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนของจังหวัดระนองรอคอยมานานที่จะมีระบบรางเข้ามาเชื่อมโครงการคมนาคมการขนส่งในพื้นที่ ล่าสุดทางจังหวัดระนองร่วมกับจังหวัดชุมพร และภาคเอกชนของ 2 จังหวัดประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดระนอง, หอการค้าจังหวัดชุมพร, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมกันเดินหน้าผลักดันโครงการระบบราง ในโครงการรถไฟทางเดี่ยวเชื่อมเส้นทางการขนส่งระหว่างจังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร เพื่อรองรับแผนการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งหากรัฐบาลมีแผนสนับสนุนเป็นระบบรถไฟทางคู่จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9