สถานการณ์พลังงานปี 61 ราคาขยับ-การใช้เติบโตกว่า2%

11 ม.ค. 2561 | 07:13 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปี 2561 ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดการณ์จีดีพีจะขยายตัว 3.9% ซึ่งจะสะท้อนมาถึงภาพรวมการใช้พลังงานปีนี้เติบโตตามไปด้วย

++ใช้พลังงานขั้นต้นโต2.1%
โดยนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศปี 2561 จะเติบโต 2.1% เมื่อเทียบกับปี 2560 หรือมีความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 2.81 ล้านบาร์เรลเทียบเท่านํ้ามันดิบต่อวัน โดยพิจารณาจากปัจจัยราคานํ้ามันดิบดูไบปี 2561 เฉลี่ย 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจ จีดีพีของสศช.ที่คาดการณ์จะขยายตัวที่ระดับ 3.6-4.6%

dg-twarath ทั้งนี้ การใช้พลังงานขั้นต้นในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ความต้องการใช้อาจจะปรับตัวลดลงราว 1.2% ที่เป็นผลจากการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการใช้ในภาคขนส่ง (เอ็นจีวี) ที่ลดลง ขณะที่การใช้นํ้ามันจะปรับตัวเพิ่มราว 2.2% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และราคานํ้ามันที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับตํ่า ส่วนการใช้ลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 1.2% โดยเฉพาะการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม การใช้ไฟฟ้านำเข้าเพิ่ม 0.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากฐานการนำเข้าจาก สปป.ลาว ที่สูงในปี 2560 ขณะที่การใช้พลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 7.1% เมื่อเทียบกับปี 2560 เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ

สำหรับการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในกลุ่มนํ้ามันสำเร็จรูปปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นนํ้ามันเตาและก๊าซแอลพีจี โดยการใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบปี 2560 (การใช้ 31.2 ล้านลิตรต่อวัน) เป็นผลมาจากราคาขายปลีกในประเทศที่ยังอยู่ระดับตํ่า ประกอบกับผู้ใช้รถแอลพีจีหันมาใช้นํ้ามันแทนอย่างต่อเนื่อง การใช้นํ้ามันดีเซลจะเพิ่มขึ้น 2.7% (การใช้ 65.5 ล้านลิตรต่อวัน) นํ้ามันเครื่องบินเพิ่ม 4.3% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ, นํ้ามันเตา ลดลง 6.7% (การใช้ 5.4 ล้านลิตรต่อวัน)

++ยอดใช้แอลพีจีขนส่งลดลง
ขณะที่ภาพรวมการใช้ก๊าซแอลพีจี โพรเพนและบิวเทน ปี 2561 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 5.0% โดยการใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 5.7%, ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 2.5% เป็นไปตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การใช้แอลพีจีในรถยนต์คาดว่าจะลดลง 10.9% ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จากการที่ผู้ใช้บางส่วนเปลี่ยนไปใช้นํ้ามันซึ่งมีราคาถูกแทน ส่วนการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น 17.8% ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น

TP9-3329-A ++ใช้ไฟฟ้าโตตามเศรษฐกิจ
สำหรับการใช้ไฟฟ้า ปี 2561 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 1.92 แสนล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4.1% เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 1.85 แสนล้านหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก

ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด(พีก) ของประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.42 หมื่นเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 0.3% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.41 หมื่นเมกะวัตต์ ส่วนพีกของ 3 การไฟฟ้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.07 หมื่นเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1.3% เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 3.03 หมื่นเมกะวัตต์ ส่วนพีกของ กฟผ. ในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.94 หมื่นเมกะวัตต์ เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2.85 หมื่นเมกะวัตต์

++น้ำมันดิบ55-60 ดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มราคา นํ้ามันดิบในปี 2561 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าราคานํ้ามันดิบดูไบ จะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยปี 2560 อยู่ที่ 53 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดได้แรงหนุนจากความต้องการใช้นํ้ามันที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 98.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว อย่างแข็งแกร่งทั่วโลก ในขณะที่สนพ.ประเมินว่าจะอยู่ในช่วง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ขณะที่ราคาขายปลีกนํ้ามันสำเร็จรูปในประเทศ คาดว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย โดยราคาขายปลีก นํ้ามันดีเซลปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 25-27 บาทต่อลิตร

วิทยุพลังงาน ++พลังงานทดแทนโตเท่าตัว
ด้านนายวีระพล จิระประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า แนวโน้มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2561 จะเพิ่มสูงขึ้นตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี) ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่ง กกพ. เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2561 ได้แก่ โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ VSPP Semi Firm มีเป้าหมายรับซื้อ 269 เมกะวัตต์ ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นๆ อาทิ ขยะ แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และลม ต้องรอความชัดเจนแผนเออีดีพีแล้วเสร็จ

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีข้อผูกพัน (พีพีเอ) แล้ว 9.2 พันเมกะวัตต์ แบ่งเป็นไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบแล้ว 7 พันเมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างทยอยก่อสร้าง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9