3 กลยุทธ์ตลาดแรงข้ามปี

06 ม.ค. 2561 | 02:00 น.
จับตา 3 กลยุทธ์การตลาดปี 2561 “Co-branding / Influencer / O2O” เครื่องมือนักการตลาดใช้เป็นตัวช่วยกระตุ้นยอดขาย สร้างแบรนด์ ตอบโจทย์ผู้บริโภคลงตัว

กลยุทธ์การตลาดที่ดีไม่ใช่แค่ “เครื่องมือ” ที่จะมาช่วยผลักดันยอดขาย หรือผลประกอบการให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังต้องเป็นตัวช่วยในการสร้างแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์สินค้า องค์กรให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคและของสังคม ทุกปีจึงเป็นหน้าที่ของนักการตลาดในการสร้างสรรค์นวัตกรรม “การตลาด” เพื่อออกมาตอบโจทย์ ในปี 2561 ก็เช่นกัน “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวม 3 กลยุทธ์การตลาดที่มาแรงและเชื่อว่าจะได้รับความนิยมสุด ได้แก่ การร่วมมือเป็นพันธมิตร (Co-branding) หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่จะมาสร้างสีสันและความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นจากการรวมกันมากกว่า 1 โดยกลยุทธ์นี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในวงการตลาด ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การที่เบอร์ 1 ใน 2 วงการ อย่างสตาร์บัคส์ที่จับมือกับอาฟเตอร์ยู นำเมนูสุดฮิตมาวางขายในร้าน อีกหนึ่งตัวอย่างเป็นคู่ของเบอร์เกอร์คิงกับโคคา-โคลาที่ร่วมกันปั้นเมนูเครื่องดื่มใหม่แบบเอ็กซ์คลูซีฟ แม้จะเป็นพาร์ตเนอร์ที่เพิ่งร่วมมือกันได้ไม่นาน ยังไม่สามารถวัดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็สร้างความฮือฮาให้กับวงการได้ และเชื่อว่าปี 2561 จะเห็นบิ๊กแบรนด์หันมาจับมือกันเป็นพันธมิตรมากยิ่งขึ้น

++Co-branding ผนึกเพื่อเกิด
นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์ “บาร์บีคิวพลาซ่า” บริษัทฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารร้าน “บาร์บีคิวพลาซ่า” กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการโค-แบรนดิ้งนั้น มี 2 สาเหตุ ได้แก่ 1.การจับมือกันระหว่างสองแบรนด์เพื่อกระตุ้นความสนใจของลูกค้า และให้เกิดกระแสในช่วงที่ต้องการ 2. การวางแผนธุรกิจร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน เช่น ต้องการ Refresh Brand เพื่อให้เกิดความสนใจหรือการแตกแคติกอรีใหม่ๆ ออกมาป้อนสู่ตลาด การจับมือร่วมกันครั้งนี้จึงเพื่อต้องการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้น เช่น บาร์บีคิวพลาซ่าที่ Co-branding กับแอนิเทค (ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า) ในการเปิดตัวไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการแตกแคติกอรีใหม่ๆ และสร้างความหลากหลายให้แก่ลูกค้า โดยมีจุดประสงค์ 3 ข้อ ได้แก่ 1.การสร้างแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจลูกค้า 2.การทำให้แบรนด์มี Movement มากขึ้น รวมไปถึงมอบสิ่งใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า และ 3. การกระตุ้นยอดขายของแบรนด์ในอีกทางหนึ่ง ซึ่งอนาคตหากการ Co-branding ดังกล่าวได้รับความนิยมก็จะมีการแตกไลน์หรือผนึกพันธมิตรใหม่ๆ ในการ Co-Branding ต่อไป

MP24-3328-A ++Influencer ยังแรง
อีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาดที่จะมาแรงและยังได้รับความนิยมสูง คือ การใช้ผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) กลยุทธ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะในแวดวงนักการตลาด การใช้ผู้ทรงอิทธิพลในการแนะนำ บอกเล่า โฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าเกิดขึ้นมานานนับ 10 ปี แต่ด้วยรูปแบบและวิธีการนำเสนอ รวมถึงช่องทางการนำเสนอที่หลากหลาย และแตกต่าง โดยเฉพาะการสร้างให้เกิด Social Issue จะเป็นพลังขับเคลื่อนและสร้างให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

กรณีศึกษาล่าสุด เป็นการเปิดตัวแคมเปญใหม่ของ “นํ้าดื่มสิงห์” ที่ได้ “เจ้านาย-จิณเจษฎ์ วรรธนะสิน” มานั่งเป็นพรีเซนเตอร์ ด้วยเหตุผลว่า “เจ้านาย” เป็นผู้ทรงอิทธิพล ในกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเป็น Young Generation นั่นเอง

โดยดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการตลาด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ระดับของการนำมาใช้จะมีความเข้มข้นมากขึ้นจากกระแสของการเข้าสู่ยุคดิจิตอลและสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบล็อกเกอร์ต่างๆ จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะปริมาณข่าวสารที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่นิยมที่อ่านเนื้อหาที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร แต่จะรับฟังจากบล็อกเกอร์ที่รีวิวสินค้ามากกว่า ทำให้อาชีพบล็อกเกอร์จะมีบทบาทสำคัญต่อการทำตลาดและสร้างแบรนด์เพิ่มมากขึ้น บทบาทของบุคคลที่ทำหน้าพรีเซนต์สินค้าหรือโปรดักต์ พรีเซนเตอร์ ก็ก้าวไปสู่แบรนด์แอมบาสเดอร์ และพัฒนาขึ้น เป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือ Influencer ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของสินค้า เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของมีเดียและสังคมออนไลน์ สื่อดั้ง เดิมลดบทบาทและความสำคัญลง สื่อนอกบ้านอาจจะยังถูกใช้รีมายด์ สินค้าได้ แต่ยังเข้าไม่ถึงผู้บริโภคเมื่อเทียบกับสื่อสมัยใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์

นางสาวบุณย์ญานุช กล่าวอีกว่า ในปี 2561 กลยุทธ์ Influencer Marketing จะยังคงมีให้เห็น แต่อาจจะน้อยลง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์เลย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มไม่ค่อยให้ความสนใจ เริ่มไม่เชื่อในสิ่งที่สื่อสาร หากเลือกใช้จึงต้องพิจารณาผู้ทรงอิทธิพลให้เหมาะกับสินค้า และภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็สามารถทำได้และประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ต้องขึ้นอยู่กับวิธีการเลือกเข้ามาประกอบด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 ++ตอบโจทย์ด้วย O2O
การตลาดแบบผสมผสานออนไลน์-ออฟไลน์ (Online to Offline : O2O) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ถูกพูดถึงมากในปี 2560 ทำให้หลายคนต้องหันมามองและเลือกศึกษา ถือเป็นการลองผิดลองถูก ทำให้มองว่า ในปี 2561 จะเป็นปีที่ “O2O” เข้ามามีบทบาทมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า การตลาดออฟไลน์ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้มีความเชี่ยวชาญสูง ขณะที่การทำตลาดออนไลน์เป็นสิ่งใหม่ มีความเสี่ยง แต่ต้องไปตามเทรนด์ของผู้บริโภค ดังนั้นการผสมผสานเพื่อหาจุดที่เหมาะสมของทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จึงน่าจะลงตัวที่สุด

“การทำตลาดแบบ O2O จะได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการและถูกนำมาใช้เพื่อทำการตลาดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นแนว ทางการตลาดที่ตรงกับยุคปัจจุบันมากที่สุด” นางสาวบุณย์ญานุช ให้ความคิดเห็นและกล่าวว่า

“ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของโลกออนไลน์ สมาร์ทโฟน มีผลให้แนวทางการตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นจากบรรดาผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์ เนื่องจากเข้าถึงง่าย มีการสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นความรู้สึกของลูกค้าทำให้เกิดการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ก่อนจะนำออกมาต่อยอดในช่องทางออฟไลน์”

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้การทำตลาดแบบออนไลน์ไปยังออฟไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากการทำกิจกรรมทางการตลาดไม่สามารถจัดทำได้ในช่องทางออนไลน์ เช่น การสร้างประสบ การณ์ของแบรนด์ไปยังลูกค้า การรับประทานอาหารภายในร้าน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำกลยุทธ์ทางการตลาดดังกล่าวมาใช้ โดยมีช่องทางออนไลน์เป็นตัวสำคัญในการสร้างการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

คงต้องจับตาดูต่อไปว่า ทั้ง 3 กลยุทธ์จะถูกนำมาใช้และตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้มากน้อยแค่ไหน...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9