'อุตฯ ยานยนต์' คึกคัก! ลงทุนใหญ่รับปีจอ

04 ม.ค. 2561 | 03:57 น.
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเนื้อหอม ค่ายรถเดินหน้าลงทุนใหญ่ “มาสด้า” ขยับโครงการไฮบริด ส่วน “เอ็มจี” มุ่งเป้าอีวี ด้านมอเตอร์ไซค์ “ฮอนด้า” ลุ้นใช้ไทยเป็นฐานประกอบรถไฮบริด ขณะที่กลุ่ม“สตาร์ต อัพ” หวังใช้โอกาสของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแจ้งเกิด“อีวี”

 

ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2561 ยังคงต้องจับตามองการลงทุนใหม่ๆจากค่ายรถยนต์-รถจักรยานยนต์ รวมไปถึงค่ายน้องใหม่ และผู้ผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์เกี่ยวเนื่องต่างๆ จากโรดแมปรัฐบาลที่สนับสนุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า และอีอีซี โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ประกอบกับการตั้งเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ให้ได้ 2 ล้านคัน (หลังจากพลาดเป้ามาในปี 2560) และการประเมินยอดขายภายในประเทศที่หลายค่ายมั่นใจว่าจะทะลุ 9 แสนคันในปี 2561 ล้วนเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกลับมาคึกคัก

 

ประเดิมต้นปีด้วยการลงทุนของค่ายมาสด้า ที่เตรียมแถลงข่าวพร้อมทั้งเชิญสื่อมวลชนร่วมเดินทางไปยังโรงงานเพื่อทำพิธีเปิดสายการผลิตเครื่องยนต์สกายแอคทีฟ ณ มาสด้า พาวเวอร์เทรนด์ เมนูแฟคเจอร์ริ่ง ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง สำหรับโรงงานแห่งนี้จะเริ่มทำการผลิตเครื่องยนต์ภายใต้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟ เพื่อป้อนให้กับโรงงานเอเอทีและโรงงานผลิตรถยนต์มาสด้าทั่วโลก ถือเป็นครั้งแรกที่มีการผลิตครื่องยนต์สกายแอคทีฟนอกประเทศญี่ปุ่น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15

โดยในงานดังกล่าว มีผู้บริหารจากมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มมาสด้าในไทย ร่วมทำพิธีเปิด ทั้งนี้ ยังมีกระแสข่าวว่ามาสด้าเตรียมประกาศการลงทุนโครงการใหม่ในไทยเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะเป็นรถไฮบริด

 

ส่วนค่ายที่แย้มแผนเกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติมคือ “เอ็มจี” ที่ให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้า “อีวี” โดยปลายปี2560 เอ็มจีนำ “โรวี อาร์เอ็กซ์ 5” มาลองวิ่งในไทย เพราะต้องการทดสอบความสามารถของแบตเตอรี่ว่าทนทานหรือมีปัญหาในการใช้งานหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน หากผลการทดสอบออกมาเป็นที่น่าพอใจ พร้อมทั้งได้ข้อสรุปเรื่องเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่ลงตัวกับภาครัฐ เอ็มจีก็พร้อมลุยตลาด “อีวี” ในไทยทันที

 

“รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกผลักดันจากประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก อย่าง จีน , สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่แผนงานของเอ็มจี ในระดับโกลบัลนั้นเราก็มีรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่งนำมาโชว์ MG E-Motion Concept ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหรือระบบอินโฟเทนเมนต์ครบครัน” นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

MP22-3328-A ข้ามมาที่ค่าย 2 ล้อ “เอ.พี. ฮอนด้า” ที่บริษัทแม่ประกาศชัดเจนถึงการทำตลาดรถจักรยานยนต์ไฮบริดในไทย แม้ตอนนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นรุ่นไหนและจะผลิตที่ใด แต่ดูจากแนวโน้มความเป็นไปได้ ประเทศ ไทยที่มีความพร้อมในทุกด้าน มีโอกาสสูงสำหรับการลงทุนโครงการใหม่นี้

 

ไม่ใช่เฉพาะค่ายใหญ่ๆที่จะเห็นการลงทุนในปี 2561 แต่แบรนด์น้องใหม่ หรือ เอสเอ็มอี เริ่มเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยับนโยบายเกี่ยวกับรถไฟฟ้า ซึ่งรถประเภทดังกล่าวมีการใช้ชิ้นส่วนที่น้อยกว่าการผลิตรถทั้งคัน อย่างไรก็ดีต้นทุนของรถไฟฟ้าที่แพงขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ ซึ่งหลายคนมีการประเมินว่าจะมีราคาลดลงเรื่อยๆและจะทำให้ราคาของรถไฟฟ้าในอนาคตจับต้องได้ง่ายขึ้น

 

ค่ายน้องใหม่ถอดด้าม “อีท่า” ETA ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เวิลด์ เอนเนอร์จี กรุ๊ป จำกัด และ 5 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์, ผู้ร่วมลงทุนตั้งโรงงานที่ไนจีเรีย, ผู้นำเข้ารถยนต์ในอินเดีย ,ผู้นำเข้ารถยนต์ในจีน และมาเลเซีย ลงขันกว่า 2.6 หมื่นล้านบาทเพื่อผลิตและประกอบรถจักรยานยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยโรงงานจะเริ่มผลิตในปี 2561 นอกจากนั้นยังมีการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จเพื่อรองรับกับจำนวนรถไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าในปี 2561 จะมีจำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

อีกหนึ่งแบรนด์คนไทย ที่ประกาศลงทุน 200 ล้านบาทเพื่อประกอบรถจักรยานยนต์ “อีทราน”ก็จะเริ่มผลิตในกลางปี 2561 พร้อมทั้งจำหน่ายรถ 2 รุ่นที่เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยเบื้องต้นวางแผนเจาะทั้งตลาดในประเทศและขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย

 

โดยรวมในแง่การลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2561 ยังถือว่าไปได้ดี หลายค่ายมีการลงทุนเพิ่มเติม หลายค่ายปักหมุดทำตลาดครั้งแรก ประกอบกับการตัดสินใจลงทุนรถอีวีหรือการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอที่จะหมดในสิ้นปี 2561 ก็คาดว่าจะได้เห็นอีกหลายค่ายที่จะขยับตัวอย่างแน่นอน

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9