โตโยต้ากับพันธกิจ บริหารซากรถยนต์

05 ม.ค. 2561 | 23:37 น.
จากวิสัยทัศน์ในการดำเนิน ธุรกิจของโตโยต้า ที่ว่า อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ทำให้เกิด “พันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า พ.ศ. 2593” เกี่ยวกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มผลกระทบเชิงบวก ซึ่งโตโยต้าทั่วโลกจะดำเนินพันธกิจนี้ร่วมกัน เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ในปี 2593

MP20-3328-A “นินนาท ไชยธีรภิญโญ” ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บอกว่า หนึ่งในความท้าทายจาก “พันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า พ.ศ. 2593” 6 ประการ คือ ความท้าทายในการเสริมสร้างสังคมและระบบที่เน้นการรีไซเคิล ที่ให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยืดอายุการใช้งานของอะไหล่ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการรีไซเคิล และที่สำคัญ คือขยะจากรถยนต์หมดอายุ ต้องมีการนำชิ้นส่วนของรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน มาผ่านกระบวนการรีไซเคิล และกำจัดของเสียหรือวัตถุอันตรายจากซากรถยนต์อย่างเหมาะสม

ขยะจากชิ้นส่วนรถยนต์ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากเราสังเกตตามอาคารจอดรถ หรือจุดจอดรถตามคอนโดมิเนียม และที่ต่างๆ จะพบซากรถจอดทิ้งแบบไร้ประโยชน์ บางคนนำซากรถไปขายถูกตีราคา 1,500 บาท 500 บาท หรือไม่มีราคาเลย

MP20-3328-1A ซากรถยนต์สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยสารทำความเย็นในรถยนต์ ได้แก่ สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ที่ทำให้โอโซนในชั้นบรรยากาศลดลง และสารไฮโดร ฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 124- 14,800 เท่า

โตโยต้า ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการริเริ่มจัดการซากรถยนต์ ผ่านบริษัทรีไซเคิลซากรถยนต์ “โตโยต้า เมทัล” ที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2513 และยังต่อยอดเผยแพร่องค์ความรู้ทั้งในด้านระบบและเทคโนโลยีในการรีไซเคิลรถยนต์ของโตโยต้า และบริษัทในเครือ ผ่านโครงการ “Toyota Global 100 Dismantlers” ที่มีเป้าหมายจัดตั้งสถานที่คัดแยกและรีไซเคิลซากรถยนต์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวน 100 แห่งทั่วโลก ภายในปี 2593 และโตโยต้าได้เลือกไทยเป็นต้นแบบแห่งแรกในอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีรถยนต์จดทะเบียนสะสมจำนวนมาก และยังไม่มีระบบที่เหมาะสมในการจัดการของเสียจากซากรถยนต์อย่างสมบูรณ์
ล่าสุด โตโยต้าและบริษัทในเครือ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม และยังจับมือกับบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ในฐานะผู้แทนของ โดวะ กรุ๊ป ทำ “โครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดการของเสียจากซากรถยนต์อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพื่อผลักดันให้เกิดระบบคัดแยกและรีไซเคิลชิ้นส่วนต่างๆ ของซากรถยนต์อย่างจริงจัง ทำให้สามารถกำจัดของเสียและวัตถุอันตรายจากซากรถยนต์อย่างถูกต้อง

MP20-3328-2A โครงการ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จากการจัดตั้งทีมงาน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อศึกษารูปแบบในการจัดการของเสียจากซากรถยนต์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยได้นำต้นแบบการจัดการของประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ เกิดเป็นการ
ดำเนินการโครงการทดลองในปีแรก เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา โดยใช้เทคโนโลยีและสถานที่ของ บริษัท กรีน เมทัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ภายใต้บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด) ในการคัดแยกชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ พร้อมนำสาร CFCs, HFCs และของเสียที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น นํ้ามันเครื่อง สารหล่อเย็น นํ้ามันเชื้อเพลิง ตลอดจนวัตถุอันตราย เช่น ถุงลมนิรภัย ออกจากตัวรถ ก่อนที่จะส่งต่อไปทำลาย หรือรีไซเคิลในรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีและสถานที่ ของ บริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด และ บริษัท อีสเทิร์น ซีบอร์ด เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด (ภายใต้โดวะ กรุ๊ป)
ปีแรกเน้นการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการของเสียจากซากรถยนต์ พร้อมสร้าง
เครือข่าย ผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ในอนาคตคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้าอย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นการจุดประกายให้เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมการรีไซเคิลในประเทศไทยอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9