ยกระดับมัคคุเทศก์

04 ม.ค. 2561 | 04:00 น.
อาชีพมัคคุเทศก์ เป็นอาชีพที่เปรียบเสมือนทูตการท่องเที่ยว แต่กลับถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง คนที่ประกอบอาชีพนี้ส่วนใหญ่ มาจากแรงบันดาลใจส่วนตัวที่รักการเดินทาง มีความอิสระ แต่เมื่อยึดเป็นอาชีพ กลับขาดโอกาสด้านสวัสดิการหลายๆ อย่าง อาทิ สิทธิ์ในการได้รับประกันสังคม หรือโอกาสในการได้รับการพิจารณาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จากสถาบันการเงิน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ในปัจจุบัน คือ ความเป็นมืออาชีพที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง มัคคุเทศก์รุ่นเก่าจะมีความอดทน มีใจรักบริการ ใฝ่หาข้อมูล ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวฟังอย่างฉะฉาน แม่นยำ และสนุกสนาน แต่ปัจจุบัน เด็กจบใหม่แม้ว่าจะจบด้านการท่องเที่ยว ไม่ได้มีความอดทนมากพอ หรือทำการบ้านมากพอ ที่จะให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวได้ เอเยนซีส่วนใหญ่จึงมักจะเลือกใช้มัคคุเทศก์ที่มีประสบการณ์มากกว่าเด็กจบใหม่ ดังนั้น หากประเทศเราจะเป็นศูนย์การการท่องเที่ยว เพื่อรองรับอัตรานักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องพัฒนาสมรรถนะตนเองอยู่ตลอดเวลา

MP18-3328-1C ปัญหาใหญ่อีกเรื่อง ที่ทำให้มัคคุเทศก์ไม่พัฒนาคือ Sitting Guide คนที่มีบัตรมัคคุเทศก์ แต่ไม่มีความสามารถด้านภาษา ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ รับจ้างนั่งประจำไปบนรถ แล้วให้ต่างชาติทำหน้าที่มัคคุเทศสื่อสารแทน แต่ไม่มีใบอนุญาต

ส่วนมัคคุเทศก์จบใหม่ โอกาสในการได้รับการจ้างจากเอเยนซีจะน้อยกว่ามัคคุเทศก์รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ ทำให้นักศึกษาใหม่ที่จบด้านการท่องเที่ยวหันไปประกอบอาชีพอื่นกว่าครึ่ง ส่วนมัคคุเทศก์อาวุโส ด้วยอายุที่มากขึ้น สุขภาพไม่อำนวยต่อการเดินทาง ก็จะออกจากอาชีพไป

“ชาติ จันทนประยูร” นายกสมาคมมัคคุเทศก์ บอกว่า สิ่งที่สมาคมฯ ดำเนินการได้ คือ ทำหน้าที่เป็นหน่วยประเมินสมรรถนะให้กับมัคคุเทศก์ และพร้อมที่จะเป็นสถาบันในการจัดอบรมมัคคุเทศก์ใหม่ให้มีความเป็นมืออาชีพ ตลอดจนส่งเสริมให้มัคคุเทศก์มืออาชีพ พัฒนาตนเองเป็นผู้อบรมอาวุโส ที่จะถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการให้บริการอย่างมืออาชีพให้กับมัคคุเทศก์รุ่นใหม่

MP18-3328-2C ล่าสุด สำนักผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ได้ร่วมประชุมกับ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมมัคคุเทศก์ และสมาคมโรงแรมไทย เพื่อหารือแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพให้กับสาขาวิชาชีพที่จะสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวไทยให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นฮับท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนในมิติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่สอดคล้องตามนโยบาย Thailand 4.0 และได้ตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้ให้แก่ประเทศ ดังนั้น ไม่เพียงแต่จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังจะส่งเสริมให้ทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับการยกระดับ มีความก้าวหน้า และมั่นคงในวิชาชีพอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9