'บินไทย' ตั้งเป้าปีนี้โต 5-10% ไล่บี้ค่าชดเชย 'โรลส์-รอยซ์' 1,400 ล้านบาท

05 ม.ค. 2561 | 06:17 น.
บินไทยตั้งเป้าปี 61 รายได้โต 5-10% ปรับแผนบินอุตลุดทั้งจ่อบินเซนได เพิ่มไฟลต์เข้าเวียนนา ยกเลิกรูตอิหร่าน เดินหน้าเรียกค่าชดเชยโรลส์รอยซ์ 1,400 ล้านบาท

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเป้าหมายรายได้ปี 2561 น่าจะขยายตัว 5-10% ซึ่งเติบโตใกล้เคียงกับผู้โดยสารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดเส้นทางบินเข้าเซนไดกับโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งความเป็นไปได้น่าจะเป็นเซนได เพราะที่ผ่านมามีการเช่าเหมาลำทุกปี

[caption id="attachment_246723" align="aligncenter" width="337"] อุษณีย์ แสงสิงแก้ว อุษณีย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

ส่วนไทยสมายล์มีแผนจะเปิดเส้นทางบินเพิ่มเติมอีกหลายจุดบินในปีนี้ เช่น ไทเป-เชียงใหม่ หรือบินเข้า ไฮเดอราบาด อัมริตสา ของอินเดีย เป็นต้น โดยจะเป็นการบินในช่วงเวลากลางคืน ที่เครื่องบินว่างอยู่ รวมถึงการเพิ่มความถี่เป็นบินทุกวัน เส้นทางกรุงเทพฯ-เวียนนาหลังเปิดบินเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ผลตอบรับดีมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร 80% เพราะได้รับความนิยมจากผู้โดยสารมาก โดยเฉพาะจากยุโรปบินมาเที่ยวไทย

สำหรับเส้นทางบินเข้าสหรัฐ อเมริกากำลังศึกษาอยู่ 3 เส้นทางคือ ลอสแองเจลีส ซานฟรานซิสโก และซีแอตเติล ซึ่งคาดว่าเดือนตุลาคมรับช่วงตารางบินหน้าหนาว (วินเทอร์สเกต) น่าจะมีความชัดเจน ขณะที่เส้นทางบินกรุงเทพฯ-อิหร่าน กำลังพิจารณาว่าจะยกเลิกเส้นทางบินในเดือนมีนาคม ให้ผ่านช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวไปก่อน เส้นทางนี้เปิดบินได้ปีเศษ พบว่าอัตราการบรรทุกผู้โดยสารบางช่วง 70% แต่บางช่วงก็หล่นไปอยู่ที่ 50-60% ซึ่งแม้จะเป็นประเทศที่น่าเที่ยวแต่มีปัญหาทางการเมืองทำให้กระทบต่อจำนวนผู้โดยสาร

นางอุษณีย์กล่าวถึงความคืบหน้าอีกว่า กรณีการเรียกร้องค่าเสียหายจากการซ่อมบำรุง เครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารว่า ล่าสุดได้สรุปตัวเลขความเสียหายทั้งค่าใช้จ่ายในการยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้า ค่าโรงแรม อาหาร ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนเงิน 1,400 ล้านบาท ที่จะต้องรับการชดเชยจาก บริษัทโรลส์รอยซ์ที่ประเทศสิงคโปร์

“เม็ดเงินดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจากับโรลส์รอยซ์ว่าจะชดเชยมาในรูปแบบใด ซึ่งการคืนเป็นเงินสดคงยาก อาจจะออกมาในลักษณะของการหักค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ครั้งต่อไป ค่าอะไหล่ต่างๆ มากกว่า ส่วนการยกเลิกสัญญานั้นคงไม่ง่ายเพราะการบินไทยยังมีเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์อยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการต่อรองกันว่าหากยังเจอปัญหาอีกจะไม่พิจารณาในการจัดซื้อใหม่ เป็นต้น”

สำหรับความคืบหน้าของการจัดซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ 28 ลำนั้น ล่าสุดบอร์ดให้ไปเพิ่มเติมในรายละเอียด เช่น การกำหนดเส้นทางบิน ขนาดเครื่องบิน ฯลฯ ประกอบการพิจารณาอย่างละเอียด เนื่องจากแผนดังกล่าวต้องนำเสนออีกหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์

ส่วนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่บอร์ดการบินไทยได้อนุมัติในกรอบของแผนไว้แล้ว ซึ่งน่าจะใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท เป็นการซื้อเครื่องบินใหม่เข้ามาทดแทนเครื่องบินเก่าที่ปลดระวางออกจากฝูงบิน และทยอยส่งมอบเข้ามาให้บริการ เพราะหากไม่ซื้อการบินไทยก็ไม่มีเครื่องบินใหม่ๆ มาบริการ ทำให้ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งขันได้ จึงมีความจำเป็น อย่างไรก็ดีขณะนี้มีเครื่องบินที่รอการขายอยู่ 22 ลำจากทั้งหมด 26 ลำ ขายไปได้เพียง 4 ลำ เนื่องจากประกาศขายแต่หาผู้ซื้อไม่ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9