แบงก์ปักธงธุรกิจดิจิตอล ลั่นสินเชื่อปีจอพุ่ง10%

06 ม.ค. 2561 | 09:30 น.
ทิศทางเศรษฐกิจปี 2561 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยออกมาประเมินภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อในปี 2561 และกลยุทธ์ในการเติบโต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพเศรษฐกิจใหญ่ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉลี่ยสินเชื่อจะเติบโตที่ 1.5-2 เท่าของจีดีพี ภายใต้กลยุทธ์และกลุ่มเป้าหมายเติบโตที่อาจจะแตกต่างกันไป ทั้งในส่วนของธุรกิจรายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงการระดมเงินฝาก เพื่อให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อ แต่เรื่องสำคัญเรื่องใหม่ที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบให้ความสำคัญมากขึ้นและไปในทิศทางเดียวกัน คือ การมุ่งเน้นด้านดิจิตอล โดยนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการให้บริการลูกค้าในทุกกลุ่มธุรกิจ

ทั้งนี้ประมาณการว่าแนวโน้มสินเชื่อภาพรวมจะเติบโตที่ 4.5% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่ 3.5% ตามแนวโน้มการลงทุน และสินเชื่อรายย่อยเติบโตที่ 5.5% แต่ยังเป็นการเติบโตในกรอบจำกัด โดยสินเชื่อทั้งระบบในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4%

TP14-3328-A เริ่มต้นด้วยแบงก์ใหญ่ อย่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ออกมาตั้งเป้าว่า สินเชื่อน่าจะเติบโตได้ในระดับ 4% จากปีนี้ที่โตได้ 3.7-3.8% โดยนายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหารมองว่า ภาครัฐที่มีแผนลงทุนต่อเนื่อง จะช่วยให้สินเชื่อภาพรวมปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อที่มุ่งเน้นการเติบโต จะโฟกัสสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ด้วยการใช้ดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำธุรกิจ เพื่อขยายฐานลูกค้า เช่น การชำระเงินผ่าน QR Code หรือการเพิ่มความหลากหลายการให้บริการบนแอพ พลิเคชัน bualuang mBanking

ฟากบมจ.ธนาคารกสิกรไทย ไม่น้อยหน้าประกาศยุทธศาสตร์ ภายใต้ Customers’ Life Platform of Choice แพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือกเพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต โดยนำจุดแข็งด้านผู้นำดิจิตอลแบงกิ้งมาตอบโจทย์พร้อมทุ่มงบไอทีปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ก้าวสู่ยุคดิจิตอลทุกรูปแบบและเป็นอันดับ 1 ด้านดิจิตอล แบงกิ้งต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าปี 2561 เพิ่มฐานลูกค้าเป็น 15.1 ล้านราย และ K PLUS 10.8 ล้านราย

[caption id="attachment_200346" align="aligncenter" width="401"] ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ คาดการณ์ว่า แรงหนุนสำคัญจากการลงทุนโครงการภาครัฐจะมาช่วยชดเชยการส่งออกและการท่องเที่ยวที่อาจเติบโตชะลอลงหลังเร่งขึ้นมากแล้วในปี 2560 โดยสินเชื่อภาพรวมน่าเติบโตได้ 5-7% สอดรับเศรษฐกิจไทยและเอ็นพีแอล 3.3-3.4% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income: NII) อยู่ในระดับทรงตัว มีอัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) 3.2-3.4%

ผยง ศรีวณิช ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า สินเชื่อน่าจะเติบโต 6-7% บนสมมติฐานจีดีพีเติบโต 4% หลักๆ จะมาจากสินเชื่อเอสเอ็มอีมากที่สุด จากนโยบายรัฐ ที่ต้องการให้เติบโตเพิ่มขึ้น ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือสินเชื่อรายใหญ่ นอกจากมองให้ครอบคลุมทุกมิติทุกภาคส่วนแล้ว ได้กำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งภาคตะวันออกและภาคอีสานซึ่งเป็นจุดแข็งของธนาคาร

[caption id="attachment_146910" align="aligncenter" width="490"] ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี)[/caption]

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย มองว่า แผนการปล่อยสินเชื่อเป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะการเติบโตมากเกินไปธนาคารจะสุ่มเสี่ยง สิ่งที่ต้องการเดินหน้าและเป็นแผน 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561-2565 คือ ต้องการเติบโตลูกค้าในส่วนของยอดแอกทีฟ ซึ่งเรื่องสินเชื่อจะตามมาที่หลัง โดยตั้งเป้าเพิ่มอัตราการเติบโตของลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิตอลเป็นประจำ หรือลูกค้าที่ใช้ Digital Banking ที่ Active อีก 2 เท่า จากที่มี 1 ล้านราย โดยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้นและง่ายขึ้น

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น น่าจะทยอยประกาศยุทธศาสตร์หรือแผนการดำเนินงานในปี 2561 ตามมาแต่ภาพรวมเชื่อว่า ทุกแห่งจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ลูกค้าด้วยระบบดิจิตอลมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกขบวน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9