ประชาพิจารณ์รอบ 2 รีดภาษี! 'อี-คอมเมิร์ซ'

03 ม.ค. 2561 | 04:03 น.
สรรพากรเดินหน้าเก็บภาษีออนไลน์ แม้เสียงค้านรอบด้าน เตรียมเปิดประชาพิจารณ์อีกรอบม.ค.นี้ หลังปรับร่างกฎหมายออกเป็น 3 ชุด แจงรายใหญ่เห็นด้วย ยืนยันไม่กระทบสตาร์ตอัพ

 

ความคืบหน้าล่าสุดของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษี จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดี กรมสรรพากรเปิดเผยว่า เดือนมกราคม กรมสรรพากรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบแรก ไประหว่างวันที่ 21 มิถุนายน-11 กรกฎาคม 2560 พบว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 64 ราย โดยเห็นด้วย 29 รายและไม่เห็นด้วย 35 ราย

 

“เท่าที่หารือกับผู้ประกอบการายใหญ่ ยินดีที่จะจ่ายภาษีดังกล่าว เพราะขณะนี้มูลค่าการค้าขายออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก มองกันว่าอาจจะถึง 1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลยังจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่และยืนยันว่า กฎหมายจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างแน่นอน เพราะตามปกติผู้ประกอบการต้องเข้าระบบและเสียภาษีที่ถูกต้องอยู่แล้ว เพียงแต่กฎหมายออกมา ล่าช้า เพราะติดขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ”

750x422_743943_1488885665

สำหรับร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์(e-Business) ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่นั้นจะปรับปรุงให้สอดคล้องกับความคิดเห็นชองประชาชน โดยแยกออกเป็น 3 ฉบับคือ 1.สินค้าจากต่างประเทศที่ส่งทางไปรษณีย์จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) เหมือนกับสินค้าที่ส่งทางไปรษณีย์ในประเทศเช่นเดียวกัน จากเดิมที่สินค้าจากต่างประเทศที่ส่งทางไปรษณีย์มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายแวต

 

ฉบับที่ 2 คือ ภาษีนิติ บุคคล ซึ่งจะต้องนิยามคำว่า สถานประกอบการในประเทศ(PE) ให้ชัดเจน ซึ่งหลังๆ ยังเป็นการใช้โดเมนท้องถิ่นในไทย ยึดธุรกรรมที่เกิดขึ้นในไทยเป็นหลัก หากมีการซื้อขายในไทย ไม่ว่าจะมีการชำระเงินด้วยสกุลเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ ให้เสียภาษี หัก ณ ที่จ่ายสูงสุดไม่เกิน 15% แต่ในการจัดเก็บต้องแยกประเภทของกิจการอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องมาตั้งสำนักงานในไทย โดยที่ธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งสรรพากร และฉบับที่ 3 คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) กำหนดให้การค้าขายออนไลน์ต้องเสียแวตด้วย จากส่วนใหญ่ยังไม่เสียแวต

 

“ขณะนี้ทุกคนรู้ว่า ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากการค้าขายออนไลน์ จากการที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ดังนั้นเราก็ต้องดำเนินการ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2561” นายประสงค์กล่าว

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9