ทุน 'รัสเซีย-จีน' เดินสายปักฐานลงทุนอีอีซี

01 ม.ค. 2561 | 10:59 น.
รัสเซียปาดหน้าจีน เตรียมขนบิ๊กธุรกิจอุตฯไฮเทคกว่า 40 รายเยือนไทยกลางม.ค.นี้ โชว์ศักยภาพพร้อมลงทุนอีอีซี ขณะพาณิชย์เผยจีนต่อคิวนำคณะใหญ่ 600 รายดูพื้นที่ปูฐานลงทุน นิคมเด้งรับ นัดหมายดูพื้นที่คึกคัก

หลังจากที่คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 570 ราย ได้เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2560 ในโอกาสครบรอบ 130 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และได้ลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)เพื่อดูลู่ทางการลงทุนไปแล้วนั้น ปี2561 จะยิ่งเห็นการเดินสายดูลู่ทางการลงทุนของทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือFDIในไทยชัดเจนยิ่งขึ้น

TP2-3327-1 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในกลางเดือนมกราคม2561 คณะนักธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมไฮเทคของรัสเซียประมาณ 30-40 คน ภายใต้การนำของรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าของรัสเซีย จะเดินทางเยือนไทย ก่อนที่คณะนักธุรกิจจากจีนจะเดินทางมาในวันที่ 18-20 มกราคม 2561 ทั้งนี้นอกจากคณะรัสเซียจะได้พบปะหารือกับกับภาครัฐบาลของไทยเพื่อขยายการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ทุกมิติในโอกาสครบรอบ 120 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซียแล้ว ครั้งนี้ยังมีเป้าหมายหลักเพื่อดูลู่ทางการลงทุนในพื้นที่อีอีซีก่อนตัดสินใจลงทุนหลังพ.ร.บ.อีอีซีจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2561

สำหรับรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของโลกที่พร้อมจะมาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพื่ออนาคต อาทิ อุตสาหกรรมการบิน ปิโตรเคมี พลังงาน ไบโอเมดิคัลฮับ ดิจิตอล และไอที เป็นต้น ทั้งนี้จากที่อีอีซีกำลังเป็นที่สนใจจากนักลงทุนทั้งญี่ปุ่น จีน ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในส่วนของรัสเซียก็จะพลาดโอกาสหรือตกขบวนนี้ไม่ได้เช่นกัน

“เดิมคณะรัสเซียจะมาในเดือนธันวาคม และได้ขยับเป็นช่วงกลางเดือนมกราคม 2561 ก่อนคณะจากจีนจะเข้ามา เบื้องต้นมีตัวเลขประมาณ 30-40 ราย แต่จำนวนที่ชัดเจนและรายชื่อบริษัทที่จะเข้ามาต้องรอการยืนยันอีกครั้ง อย่างไรก็ดีคณะรัสเซียแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำ มีศักยภาพการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคเทคโนโลยี”

++คณะจีนอีก600 ต่อคิว
ด้านนักธุรกิจอีกคณะใหญ่จากประเทศจีนที่จะเดินทางเยือนไทย ได้รับการเปิดเผยจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ รักษาการอธิบดีว่าระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2561 นี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน(JC) ครั้งที่ 6 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายหวาง หย่ง มนตรีแห่งรัฐเป็นประธานร่วม ซึ่งจะมีภาคเอกชนจีนเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา หารือโอกาสในการลงทุนในอีอีซี และการจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ด้วยประมาณ 600 คนจากหลากหลายภาคธุรกิจ ซึ่งในรายละเอียดและรายชื่อบริษัทจีนที่จะเข้าร่วมครั้งนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางฝ่ายจีน

“บริษัทจีนที่จะมาครั้งนี้อยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลมีแผนผลักดันการลงทุนในอีอีซี ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนจีนได้เข้ามาลงทุนในไทยอยู่บ้างแล้วในเขต/นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ แต่เท่าที่ทราบยังมีพื้นที่ในการลงทุนอีกมาก”

[caption id="attachment_156995" align="aligncenter" width="346"] นายหลักชัย กิตติพล นายหลักชัย กิตติพล[/caption]

++นิคมฯเอกชนคึกคัก
นายหลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง เผยว่า การมาของคณะจีนในครั้งนี้ หลายนิคมในพื้นที่อีอีซี(ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา)ต่างมีนัดหมายกับลูกค้าจีนในการดูพื้นที่ลงทุน ในส่วนของบริษัทมีนัดหมายลูกค้าจากจีนในครั้งนี้ 5-10 ราย ขณะเดียวกันได้มีแผนลงทุนนิคมในเฟสที่ 2 อีกประมาณ 3,000 ไร่ หลังพื้นที่สร้างรายได้ในเฟสแรก 1,500 ไร่ขายได้ทั้งหมด(เหลืออีกประมาณ 800 ไร่) คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยการลงทุนครั้งนี้เป็นการปรับแผนให้เร็วขึ้นจากเดิมจะเริ่มในปี 2563 เป็นปี 2562

T08321702 นายธนากร เสรีบุรี อดีตประธานสภาธุรกิจไทย-จีน กล่าวว่า ปัจจุบันจีนมีบริษัทใหญ่ๆ และมีเงินมากไม่แพ้ญี่ปุ่นและมีศักยภาพการลงทุนด้านอุตสาหกรรมไฮเทค แปรรูปเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และอื่น ๆ มองว่าใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยจีนจะเข้ามาลงทุนแน่ เพราะปัจจุบันค่าแรงตามเมืองใหญ่ของจีนก็ไม่ได้ถูกอีกต่อไปแล้ว ซึ่งการมาลงทุนในไทยสามารถใช้วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ส่งสินค้ากลับไปจำหน่ายในจีนซึ่งมีตลาดใหญ่กว่า 1,300 ล้านคน รวมถึงส่งออกไปประเทศที่ 3 ได้

[caption id="attachment_125857" align="aligncenter" width="400"] นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์[/caption]

++จีนลงทุนไทยอันดับ 3
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ เผยก่อนหน้านี้ว่า ยังมั่นใจยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 2560 จะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 6 แสนล้านบาท จาก 9 เดือนแรกปี2560 มียอดอยู่ที่ 3.76 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเป็นคำขอที่ลงทุนในพื้นที่อีอีซี 1.04 แสนล้านบาท จำนวน 229 โครงการ
ทั้งนี้จากสถิติการยื่นขอส่งเสริมของโครงการลงทุนดังกล่าว แยกเป็นสถิติการขอส่งเสริมโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2560 (มกราคม-กันยายน) มีจำนวนโครงการยื่นขอส่งเสริมจำนวน 604 โครงการมูลค่าเงินลงทุน 1.68 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 (มกราคม-กันยายน) จำนวนโครงการลดลง 3.8%แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 6.4% โดยทุนสัญชาติญี่ปุ่นมีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงสุดคิดเป็น 41%ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด โดยมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิกิจการผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป กิจการผลิต Alternator or Parts กิจการวิจัยและพัฒนาและ/หรืออุตสาหกรรมการผลิตสารเวชภัณฑ์ที่ใช้เทคโน โลยีชีวภาพ

รองลงมา คือ สิงคโปร์ มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมคิดเป็นสัดส่วน 19% มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน อาทิ กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โดยเป็นการลงทุนจากจีนผ่านสิงคโปร์) กิจการโรงแรม กิจการผลิตอุปกรณ์ควบคุมระบบสุขภัณฑ์ (Washlet) ส่วนอันดับ 3 คือ จีน มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมคิดเป็น 7% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด โครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ อาทิ กิจการโรงแรม กิจการผลิตเส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ กิจการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,327 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 - 3 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9