สินเชื่อสุทธิเดือน พ.ย.60 ขยับขึ้นเล็กน้อย จากแรงหนุนของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจ

27 ธ.ค. 2560 | 09:29 น.
สินเชื่อสุทธิเดือน พ.ย. 2560 ขยับขึ้นเล็กน้อย จากแรงหนุนของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจ แต่ถูกกดดันด้วยการชำระคืนหนี้ภาครัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
สินเชื่อสุทธิเดือน พ.ย. 2560 ขยายตัวดีขึ้นด้วยสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจ

ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน พ.ย. 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.27 หมื่นล้านบาท เป็น 10.841 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่ม 0.4% MoM และเพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อน และสิ้นปีก่อน 2.6% YoY และ 2.3% YTD โดยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในเดือนนี้ ค่อนข้างกระจายตัวเกือบทุกธนาคาร เนื่องจากตัวนำการเพิ่มขึ้นอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย อันเป็นปกติของฤดูกาลใช้จ่าย ประกอบกับมีแรงหนุนจากมาตรการช้อปช่วยชาติซึ่งปีนี้เลื่อนเร็วขึ้นมาอยู่ในช่วง 20 วันหลังของเดือน พ.ย. นอกจากนี้ การเบิกใช้วงเงินสินเชื่อธุรกิจกลับมาเพิ่มขึ้นจากปัจจัยฤดูกาล รวมทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เริ่มกลับเป็นบวก ส่วนหนึ่งจากแรงกระตุ้นภาครัฐผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. อย่างไรก็ดี ภาพรวมสินเชื่อในเดือนนี้ยังไม่เร่งตัวขึ้นเท่าที่ควร แม้จะเข้าสู่ช่วงท้ายปี เนื่องจากมีแรงกดดันจากการชำระคืนหนี้ภาครัฐ

สำหรับแนวโน้มในเดือนสุดท้ายของปี คาดว่า สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจ แม้ว่าอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ ซึ่งสวนทางกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นจากที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี ภาพสินเชื่อที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังกระจุกตัว โดยการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังอยู่ใต้แรงกดดันของภาวะหนี้ครัวเรือน ทำให้จำกัดโอกาสการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย ขณะที่ภาคธุรกิจที่สัมพันธ์กับภาคต่างประเทศ อาจเลือกช่องทางในการระดมทุนผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ทดแทน

เงินฝากเดือน พ.ย. 2560 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากบัญชีออมทรัพย์และบัญชีเพื่อบริหารเงิน

ภาพรวมเงินฝากเดือน พ.ย. 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.66 หมื่นล้านบาท หรือ 0.6% MoM เป็น 11.962 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อน 5.8% และ 5.3% ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและกลาง สวนทางกับกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่ถูกกดดันจากการเบิกถอนเงินฝากภาครัฐ และเงินฝากประจำพิเศษที่ครบกำหนดโดยไม่มีการออกแคมเปญใหม่มารองรับ ทั้งนี้ เงินฝากส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นยังเป็นประเภทบัญชี CASA หรือเงินฝากออมทรัพย์ และ Transaction Deposit ซึ่งรวมถึงบัญชีกระแสรายวัน และบัญชีออมทรัพย์ประเภทใหม่ ๆ ที่รองรับความสะดวกในการโอนเงินของลูกค้า ขณะเดียวกัน ยังทำให้ธนาคารมีต้นทุนการเงินที่ต่ำลง และเอื้อต่อการบริหารจัดการเงินฝากของธนาคาร

สภาพคล่องเดือน พ.ย. 2560 ผ่อนคลายลงต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม ในระดับที่สูงกว่าสินเชื่อ

 ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายลง เนื่องจากเงินฝากและเงินกู้ยืมรวมเพิ่มขึ้นในจำนวนที่สูงกว่าสินเชื่อกว่า 2 เท่า ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน พ.ย. 2560 ผ่อนคลายลงมาที่ 90.05% จากระดับ 90.46% ในเดือน ต.ต. สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับขึ้นมาที่ 22.47% จากระดับ 22.20% ในเดือนก่อนหน้า
แนวโน้มสินเชื่อทั้งปี 2560: คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในเดือน ธ.ค. และส่งให้ภาพรวมทั้งปีเพิ่มขึ้นที่ 3.5%

แม้ภาพรวมสินเชื่อในช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ จะออกมาต่ำกว่าที่คาด ซึ่งนอกจากจะมีปัจจัยจากการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อรายใหญ่แล้ว ยังสะท้อนการฟื้นตัวของสินเชื่อที่ไม่แข็งแรงเท่ากันในทุกภาคส่วน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังกระจุกอยู่ในบางภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่นำโดยภาคต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเชื่อว่ามีโอกาสที่ภาพรวมสินเชื่อเมื่อจบปี 2560 จะเติบโตเร่งขึ้นที่ราว 3.5% ใกล้เคียงกรอบประมาณการที่คาดไว้ตั้งแต่ต้นปี

ขณะที่การบริหารจัดการเงินฝากในปีนี้ ยังรักษาความสามารถในการบริหารรายได้ของธนาคารไว้ได้ดี ซึ่งส่วนหนึ่งดำเนินการผ่านการปรับโครงสร้างเงินฝากอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสัดส่วนเงินฝากประจำต้นทุนสูงทยอยลดต่ำลง สอดคล้องกับผลตอบแทนในภาพรวมของตลาด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประคองความสามารถในการทำกำไรและรักษาระดับสภาพคล่องที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9