คลังเผยฐานะการคลัง 2 เดือนแรกปีงบ 61 รัฐนำส่งรายได้ 3.4 แสนล้านบาท

27 ธ.ค. 2560 | 09:12 น.
คลังเผยฐานะการคลัง 2 เดือนแรกปีงบ 61 รัฐนำส่งรายได้ 3.4 แสนล้านบาท เงินคงคลังเดือน พ.ย. 2.16 แสนล้านบาท

-27 ธ.ค. 60-น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.-พ.ย.60) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 340,189 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 678,549 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 112,613 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 216,211 ล้านบาท

"การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 สามารถเบิกจ่ายได้ 6.7 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 11% ทั้งนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายดังกล่าวจะสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง" โฆษกกระทรวงการคลังระบุ

โดยในเดือนพฤศจิกายน 2560 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 160,619 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 98,117 ล้านบาท และเป็นการขาดดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน 62,502 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 มีจำนวน 216,211 ล้านบาท
สำหรับฐานะการคลังเดือนพ.ย.60 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง จำนวน 152,058 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 52,890 ล้านบาท (คิดเป็น 25.8%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งเงินจากรายได้รัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว นอกจากนี้ ภาษีน้ำมันและภาษีเบียร์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนวิธีชำระภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
โดยรัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 250,175 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 74,463 ล้านบาท (คิดเป็น 42.4%) โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 221,197 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 49.0% ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ จำนวน 202,053 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 59.5% และรายจ่ายลงทุนจำนวน 19,144 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 12.1% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 28,978 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 6.2% ซึ่งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 71,990 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง จำนวน 21,555 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 20,239 ล้านบาท

ส่วนดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขาดดุลจำนวน 98,117 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 62,502 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังจำนวน 25,000 ล้านบาท การถอนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งวดที่ 10 – 11 จำนวน 17,274 ล้านบาท และการถอนเงินฝากคลังของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจำนวน 3,205 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 160,619 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 72,013 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับจำนวน 88,606 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 216,211 ล้านบาท

สำหรับฐานะการคลังในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.-พ.ย.60) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 340,189 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 15,813 ล้านบาท (คิดเป็น 4.4%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

โดยรัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ จำนวนทั้งสิ้น 678,549 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 67,482 ล้านบาท (คิดเป็น 11.0%) ประกอบด้วย รายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 635,143 ล้านบาท คิดเป็น 21.9% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย (2,900,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11.3% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 43,406 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7.8%

ส่วนรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 635,143 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำจำนวน 538,794 ล้านบาท (คิดเป็น 25.6% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลงจำนวน 2,278,238 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11.9% และรายจ่ายลงทุนจำนวน 51,349 ล้านบาท (คิดเป็น 8.3% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน หลังโอนเปลี่ยนแปลงจำนวน 621,762 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.1%

สำหรับดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดขาดดุลจำนวน 420,160 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 338,360 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน 81,800 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังจำนวน 65,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน โดยการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 112,613 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับจำนวน 307,547 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 216,211 ล้านบาท ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9