เอกชน-นักวิชาการฟันธง ไทยมีโอกาสเหนือปัจจัยเสี่ยง

30 ธ.ค. 2560 | 07:28 น.
ปี 2560 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปมีข่าวดีสำหรับประเทศไทย หลายเหตุการณ์ อาทิ ภาคการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี สหรัฐอเมริกาประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้นในรอบ 10 ปีจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เหลือเพียงเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศจะฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกมิติ เป็นต้น

ขณะที่ในปี 2561 ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่ นอกจากเศรษฐกิจไทยจะมี “แรงส่ง” ที่ดีจากภาคการส่งออกแล้ว ด้านการลงทุนก็มีแรงส่งจากรัฐบาลได้เร่งผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ และเร่งสปีดผลักดันโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2561 เป็น “ปีท่องเที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” อย่างไรก็ดีในมุมมองภาคเอกชน และนักวิชาการมองโอกาส ปัจจัยเสี่ยง และจะรับมือในปีหน้าอย่างไรนั้น ฟังจากเสียงสะท้อน

[caption id="attachment_245296" align="aligncenter" width="503"] กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย[/caption]

++หอการค้าชี้โอกาสอื้อ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี2561 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นข้อกังวลของภาคธุรกิจในหลายเรื่อง เช่น ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่า ซึ่งหากอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเหมือนในปัจจุบันภาคส่งออกยังพอรับมือได้ แต่หากแข็งค่าไปมากกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ขณะที่ยังห่วงเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของคู่ค้า และกำลังจับตามองกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ อยู่ระหว่างผลักดันนโยบายปฏิรูปภาษีภายในเพื่อดึงเงินทุนกลับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไร และที่มองว่าเป็นความเสี่ยงสูงสุดคือ กรณีเกาหลีเหนือ ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่

“แม้จะมีปัจจัยเสี่ยง แต่มองว่าในปี 2561 ภาคธุรกิจไทยยังมีโอกาสในการทำธุรกิจ หรือขยายธุรกิจอีกมาก ที่สำคัญเช่น โอกาสจากที่รัฐบาลจะขยายโครงการเน็ตประชารัฐให้ครอบคลุม 7.5 หมื่นหมู่บ้านภายในสิ้นปีหน้า จะเป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจได้เข้าไปช่วยเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร ชุมชน หรือคนในท้องถิ่นด้านการผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด การไปช่วยจัดฝึกอบรมในการลดต้นทุนและการทำการค้าผ่านอินเตอร์เน็ต รวมถึงเข้าไปดูว่ามีสินค้าใดในท้องถิ่นที่บริษัทสามารถนำไปทำการตลาดได้บ้าง เป็นต้น”

ขณะที่ในปี 2561 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย ภาคธุรกิจในพื้นที่ต้องนำไปคิดต่อว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น การลงทุนร้านอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น การลงทุนเรื่องที่พัก โฮมสเตย์ ของที่ระลึก และอื่นๆ นอกจากนี้จากที่รัฐบาลจะมีการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนได้ขยายการลงทุนตามแนวเส้นทางที่โครงการจะเกิดขึ้น เช่นที่พักอาศัย ตลาดการค้า รวมถึงการร่วมลงทุนกับภาครัฐหากเปิดโอกาสให้ร่วมทุน เป็นต้น

“นอกจากนี้ไทยมีโอกาสด้านการค้าชายแดนที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก จากสินค้าไทยได้รับความเชื่อถือจากประเทศเพื่อนบ้าน และยังเป็นโอกาสการลงทุนหรือขยายกิจการในต่างประเทศสำหรับหลาย ๆ บริษัทของไทยที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินและการทำธุรกิจ”

[caption id="attachment_245297" align="aligncenter" width="377"] พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ[/caption]

++ภาพรวมดี-ห่วงการเมือง
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปี 2561 หากไม่มีอะไรมากระทบมากคาดเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยจะขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่าปี 2560 ที่คาดจะขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 3.8% โดยภาคการส่งออกจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน และยังมีภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะเป็นตัวทำเงิน ส่วนภาคการลงทุนอาจจะมากขึ้น จากโครงการอีอีซี โครงการรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงปีหน้า หากมองการเมืองในประเทศแล้วยังไม่ค่อยสบายใจเท่าไร ส่วนปัจจัยภายนอกเช่นกรณีเกาหลีเหนือ ปัญหาในตะวันออกกลางถ้าไม่รบกันแบบสงครามคงไม่มีผลต่อราคานํ้ามันปรับตัวสูงขึ้นมากนัก สรุปปีหน้าภาพรวมก็น่าจะดีขึ้น

“อย่างไรก็ดีในแง่อุตสาหกรรมผมห่วงอุตสาหกรรมทูน่า เพราะเราไม่มีอะไรเป็นของเราเองนอกจากตัวโรงงาน เพราะวัตถุดิบปลา และกระป๋องบรรจุเราต้องนำเข้า แรงงานก็ใช้ต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ หากวันใดเขาย้ายกลับประเทศเราจะมีปัญหาและไปต่อไม่ได้”

[caption id="attachment_245295" align="aligncenter" width="335"] สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์[/caption]

++พีทีทีจีซีลดเสี่ยงรุกCLMV
ขณะที่ในภาคเรียลเซ็กเตอร์นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ให้ความเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2561 มองว่ายังคงเป็นเรื่องราคานํ้ามันดิบที่ยังผันผวนตามสถานการณ์โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง ซึ่งบริษัทประเมินราคานํ้ามันดิบสำหรับปี 2561 จะอยู่ในช่วง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เทียบกับปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 51 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนระดับค่าการกลั่น(GRM) อยู่ที่ 7 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 6.8 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปี 2561 บริษัทเริ่มขยายธุรกิจไปยังตลาดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการสร้างการเติบโตในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนกับลูกค้า ตลอดจนจับคู่ธุรกิจระหว่างลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศ กับผู้ค้าในต่างประเทศ ที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการมาบ้างแล้ว อาทิ การจะร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจโรงงานขึ้นรูปพลาสติกเพื่อการผลิตและการขายในเมียนมา

นอกจากนี้จะเดินหน้ากลยุทธ์ร่วมกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมพลาสติก จัดตั้งศูนย์ Customer Solution Center : CSCเพื่อตอบสนองความต้องการของ ลูกค้า โดยการส่งเสริม สนับสนุนและเป็นสื่อกลางในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกเติบโต โดยตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันยังมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของรายได้รวม “การบริหารความเสี่ยงนั้น ทางพีทีทีจีซีได้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ส่วนการบริหารจัดการต้องทำให้อุตสาหกรรมมีความต่อเนื่องในระยะยาว และใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น”

[caption id="attachment_245298" align="aligncenter" width="335"] สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์[/caption]

++อีอีซีโอกาสประเทศไทย
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน มองปัจจัยเสี่ยงปี 2561 ว่า ที่น่าเป็นห่วงมากคือปัจจัยภายนอกที่มาจากภาคการเงินของโลกที่เกิดฟองสบู่มากมาย โดยเฉพาะตลาดหุ้น ตรงนี้มีคำถามว่าจะปรับฐานหรือไม่ และตลาดเงินตลาดทุนที่จะปรับฐานไม่ได้เกิดฟองสบู่ในภาคตลาดเงินตลาดทุนที่มันแตกเอง แต่จะเกิดจากปัจจัยด้านความมั่นคงด้วย เช่น ปัญหาเกาหลีเหนือ ปัญหารัสเซีย ปัญหาตะวันออกกลาง ปัญหาการก่อการร้าย เหล่านี้จะทะเลาะกันรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ถ้าฟองสบู่พองมากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงมาก ดังนั้นความเสี่ยงเหล่านี้ย่อมโยงถึงประเทศไทย อย่างหุ้นที่ขึ้นลงไม่ได้เกิดจากคนไทยอย่างเดียว แต่เกิดจากเงินอย่างน้อย 30% ของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย

เช่นเดียวกับความเสี่ยงเรื่องเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนนโยบายของอเมริกาเช่น ปรับดอกเบี้ยสูงขึ้น หรือจากนโยบายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ เพื่อดึงเงินทุนไหลกลับประเทศหากทำได้จริงก็จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อภาคการเงิน ซึ่งตรงนี้จะกระทบกับไทยด้วยเพราะเราเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดกว้าง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มาจากภายในประเทศคือ รัฐจะต้องเข็นนโยบายต่างๆให้ออกมาสู่ภาคปฏิบัติได้จริง เพราะเวลานี้กำลังซื้อรากหญ้าก็ยังมองไม่เห็นว่ามาจากไหน

TP08-3326-1A “โดยสรุปสิ่งที่อยากฝากไว้คือ 1. จะต้องตีโจทย์ 3 ชาติได้แก่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนให้แตก เพราะโดยแนวโน้มแล้วญี่ปุ่นก็อยากจะออกมาลงทุนนอกประเทศอย่างมากเพราะเงินเยอะจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไรและไม่มีครั้งไหนที่เศรษฐกิจในญี่ปุ่นมีสภาพคล่องล้นขนาดนี้หลังจากที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นอัดฉีดเงินไปมาก เมื่อเงินญี่ปุ่นมากจะทำอย่างไรให้ไหลมาเมืองไทย ดังนั้นถ้าไทยพร้อมในเรื่องกฎหมายอีอีซีให้เร็วกว่านี้เงินจากญี่ปุ่นก็จะไหลเข้ามามากขึ้น”

ส่วนสหรัฐฯ จะมีทั้งปัจจัยลบและปัจจัยบวก ปัจจัยลบคือถ้าอเมริกาลดภาษีต่างๆลงมาและมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะเกิดเงินทุนไหลออก เช่นเดียวกับจีนที่เราต้องตีโจทย์นโยบายต่างๆ ของจีนให้แตก พร้อมกับการเตรียมรับมือไว้

สำหรับโอกาสในปี 2561หัวใจสำคัญอยู่ที่นโยบายอีอีซี แต่ขึ้นอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะผลักดันได้รวดเร็วหรือไม่ อย่างไรก็ดีแม้ปลายปี2561จะมีเลือกตั้ง และต่อให้ประกาศใช้พ.ร.บ.อีอีซีในปลายรัฐบาลนี้ ถามว่ามีเอกชนใน-นอกประเทศอยากจะลงทุนในช่วงนี้หรือไม่ ในเมื่อยังไม่เห็นภาพเลยว่าการเมืองจะออกหัว ออกก้อยอย่างไร เพราะต่างจะรอดูโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,326 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-10