DSIแจงผลงานรับ2,382 คดีเสร็จ 1,997คดีเรียกเงินคืนรัฐ1.07แสนล.

26 ธ.ค. 2560 | 08:12 น.
DSI แถลงผลงานสำคัญรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2560และทิศทางการทำงานในปี61

กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีภารกิจตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม การสืบสวนและการสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดำเนินการสืบสวน โดยใช้วิธีการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบดำเนินคดีอาญาสำคัญที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศและประชาชนในด้านต่างๆ ซึ่งเรียกว่า “คดีพิเศษ” นอกจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษยังมีภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรมให้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการร้องขอความเป็นธรรมจากประชาชนทั่วไปด้วย

dsi

ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ.2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการดำเนินคดีพิเศษจำนวน 291 คดี และสอบสวนเสร็จ จำนวน 124 คดี ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 120 คดี เมื่อรวมการดำเนินคดีพิเศษทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึง พ.ศ. 2560 รับคดีพิเศษทั้งสิ้น 2,382 คดี สอบสวนเสร็จ 1,997 คดี และเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 385 คดี โดยคดีที่สอบสวนเสร็จ เป็นการส่งพนักงานอัยการ จำนวน 1,601 คดี ส่งสำนักงาน ป.ป.ช. 134 คดี ส่งสำนักงาน ป.ป.ท. 3 คดี และงดสอบสวนหรือเปรียบเทียบปรับ 259 คดี

มีมูลค่าความเสียหายที่สามารถเรียกคืนหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่รัฐประชาชนได้ 866 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 352,680.630 ล้านบาท สำหรับมูลค่าความเสียหายที่สามารถเรียกคืนหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่รัฐประชาชนได้ เฉพาะปี 2560 เป็นคดีที่มูลค่าฯ 84 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 107,220.82 ล้านบาท ซึ่งเกินจากค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 15,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ในมิติการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษมีผลการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ที่สำคัญ ดังนี้
(1) การบริการประชาชนและรับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ร้องขอปรึกษากฎหมาย แจ้งเบาะแสรวม 7 ช่องทาง ประกอบด้วย ยื่นหนังสือหรือเอกสาร ติดต่อด้วยตนเอง ณ ที่ทำการกรมสอบสวนคดีพิเศษ, โทรศัพท์สายด่วน 1202, เว็บไซต์ DSI, เว็บไซต์ 1111, ช่องทางเฟสบุ๊ค และ DSI Application ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่กำหนดสำเร็จเรียบร้อย พร้อมแจ้งให้ผู้ร้องทราบในเบื้องต้นถึงข้อมูลที่ผู้ร้องขอให้หรือแจ้งให้ดำเนินการ จำนวน 2,326 เรื่อง

(2) จัดการประชุมหารือมาตรการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบถูกฟ้องร้องขับไล่สูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จากการทำสัญญาขายฝาก จำนอง เช่าซื้อและกู้ยืมเงินในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคประชาสังคม จำนวนผู้เข้าร่วม 45 คน จาก 20 หน่วยงาน

klo

(3) การให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์ ถูกผู้จำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ฟ้องให้ชำระหนี้ค่าปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 88 คดี จำเลยจำนวน 222 ราย ทุนทรัพย์กว่า 40 ล้านบาท
(4) การดำเนินมาตรการทางอาญาและทางภาษีในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ประสานกับกรมสรรพากร ประเมินภาษีเจ้าหนี้รายใหญ่ ฟ้องร้องคดีอาญาเจ้าหนี้รายดังกล่าวในข้อหา ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จำนวน 6 คดี ช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดีขอเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยที่ศาล อีก 25 ราย

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษโดยการเน้นนำเทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิบัติงาน ที่สำคัญประกอบด้วย

(1) โครงการมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ ด้วยระบบแม่ข่ายแผนที่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (DSI MAP) และผ่านระบบดาวเทียม GPS (DSI MAP Extended) เป็นการอบรมให้ความรู้สร้างเครือข่ายหน่วยงานและภาคประชาชนเป้าหมาย 9 จังหวัด ประกอบด้วย ลำพูน ลำปาง ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชุมพร นครสวรรค์ ชัยนาท นครนายก และชลบุรี รวมผู้เข้ารับการอบรมและเป็นสมาชิกเครือข่ายทั้งสิ้น 839 คน โดยผู้เข้ารับการอบรมสามารถใช้เทคโนโลยีระบบแม่ข่ายแผนที่ผ่านอินเตอร์เน็ต (DSI MAP) และผ่านระบบดาวเทียม GPS (DSI MAP Extent) เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ของรัฐ และที่สงวนหวงห้ามต่างๆ ได้

(2) โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายดีเอสไอในการป้องกันอาชญากรรมคดีพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมกับภารกิจการป้องกันอาชญากรรมในระดับพื้นที่ ประกอบด้วยกิจกรรมพัฒนาศักยภาพสมาชิกเครือข่ายด้านเทคนิคการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานอาชญากรรมคดีพิเศษ มีการอบรมแกนนำ จำนวน 80 คน กิจกรรมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมในการป้องกันอาชญากรรมคดีพิเศษและการเฝ้าระวัง การแจ้งเบาะแสอาชญากรรมคดีพิเศษ และมอบรางวัลเครือข่ายต้นแบบดีเอสไอ ให้แก่เครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน และเครือข่ายต่างประเทศ ที่มีผลงานดีเด่นในรอบปี จำนวน 22 คน/หน่วยงาน

tamma

คดีพิเศษสำคัญที่ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
1. คดีเกี่ยวกับวัดธรรมกาย
เป็นคดีพิเศษที่ขยายผลมาจากการดำเนินคดีเกี่ยวกับ การทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งพบว่าเงินที่ได้จากการกระทำความผิดบางส่วน เข้าสู่วัดพระธรรมกายและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้ทำการสอบสวน 3 คดี และแต่ละคดีมีความคืบหน้า ดังนี้

- คดีพิเศษที่ 27/2559 ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร กรณีพบว่ามีเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดคดีสหกรณ์สั่งจ่ายเป็นเช็คไปยังวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน 27 ฉบับ เป็นเงินประมาณ 1,458 ล้านบาทเศษ คดีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วโดยส่งสำนวนการสอบสวน มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 5 คน ไปยังพนักงานอัยการ ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2559 แล้ว คดีมีการออกหมายจับพระธัมมชโย ซึ่งมีหลักฐานว่าร่วมกระทำผิดด้วย โดยพระธัมมชโยได้หลบหนีคดีและศาลอาญาได้ออกหมายจับไว้ตามหมายจับเลขที่ 942/2559 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559

ปัจจุบันได้มอบหมายเจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามจับกุมตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นการดูแลพื้นที่วัดพระธรรมกาย มีคณะทำงานระดับจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ซึ่งจัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจตราในพื้นที่วัดพระธรรมกายทุกวัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่พบเบาะแสพระธัมมชโยกลับเข้ามาในพื้นที่ของวัดแต่อย่างใด

- คดีพิเศษที่ 21/2560 ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ระหว่างนายธรรมนูญ อัตโชติ ผู้กล่าวหา กับพระวิรัตน์ ฐิติรัตน์ กับพวก มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องการนำเงินที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดไปซื้อหุ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561

- คดีพิเศษที่ 24/2560 ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ระหว่างนายธรรมนูญ อัตโชติ ผู้กล่าวหา กับ ...ซึ่งยังไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด (มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง) มูลค่าความเสียหายประมาณ 125 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
นอกจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษยังอยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อขยายผลอีกส่วนหนึ่งด้วย

2. คดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด
กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เป็นคดีพิเศษ จำนวน 17 สำนวน มูลค่าความเสียหาย 335,434.78 ล้านบาท ขณะนี้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว 8 สำนวน อยู่ระหว่างสอบสวน 9 สำนวน และเป็นเรื่องสืบสวน จำนวน 2 สำนวน

3. คดีพิเศษเกี่ยวกับการฟอกเงินกรณีผู้บริหารธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน กระทำการทุจริตในการปล่อยกู้เครือบริษัทกฤษดามหานคร

ook

กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีที่เกี่ยวข้องกับฟอกเงินกรณีผู้บริหารธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน กระทำการทุจริตในการปล่อยกู้เครือบริษัทกฤษดามหานคร จำนวน 2 คดี คือ
(1) คดีพิเศษที่ 36/2550 ซึ่งเป็นคดีหลัก คดีนี้สอบสวนเสร็จและมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหารวม 13 คน ในความผิดฐานฟอกเงิน ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการตั้งแต่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการชั้นอัยการ

(2) คดีพิเศษที่ 25/2560 กรณีสำนักงาน ปปง. มีหนังสือเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ขอให้ DSI พิจารณาดำเนินการกรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร กับพวก รวม 4 คน ที่รับโอนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในการปล่อยกู้ฯ ด้วย จำนวน 10 ล้านบาท และ 26 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวน ได้ร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหา 1.นางเกศินี จิปิภพ 2.นางกาญจนาภา หงษ์เหิน 3.นายวันชัย หงษ์เหิน และ 4.นายพานทองแท้ ชินวัตร ในข้อหา “สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ร่วมกันฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบแล้ว” และให้โอกาสนายพานทองแท้ฯ กับพวก นำหลักฐานมาชี้แจง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ภายใน 60 วัน จะครบกำหนดวันที่ 18 ธันวาคม 2560 นี้ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้ส่งเอกสารหลักฐานมาเพื่อแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ได้กำชับพนักงานสอบสวนให้สอบสวนให้เสร็จภายในกลางปี พ.ศ. 2561 ก่อนคดีหมดอายุความฟ้อง

4. คดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ดำเนินการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รวมถึงการติดตามพฤติกรรมผู้กระทำความผิด การจัดทำข้อมูลด้านการข่าวที่มีความเกี่ยวโยงกับการกระทำความผิดฐานการค้ามนุษย์ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนทั้งในและต่างประเทศที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มีคดีพิเศษ 7 คดี สอบสวนเสร็จ 4 คดี (ค้าง 3 คดี) สำนวนสืบสวน 23 เรื่อง สืบสวนเสร็จ 9 เรื่อง ค้าง 14 เรื่อง ตรวจสอบข้อเท็จจริง 5 เรื่อง เสร็จ 2 เรื่อง ค้าง 3 เรื่อง สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ 13 หน่วย

คดีที่สำคัญ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สนธิกำลังกับกรมการปกครอง และองค์กรพัฒนาเอกชน NVADER ร่วมกันตรวจค้นสถานประกอบการร้านภูเรือคาเฟ่ อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย/กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการช่วยเหลือหญิงไทย จำนวน 2 คน ถูกหลอกไปบังคับค้าประเวณีที่ประเทศเกาหลีใต้/

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15-3

กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ช่วยเหลือหญิงสาวชาวโมร็อกโกที่ถูกหลอกลวงมา จำนวน 2 คน ที่หลบหนีจากสถานที่ถูกบังคับให้ทำงานค้าประเวณี/กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์การต่อต้านการค้ามนุษย์ (NVADER) ได้เข้าช่วยเหลือหญิงบริการทางเพศชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จากคาราโอเกะแห่งหนึ่งใน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี/ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ช่วยเหลือหญิงสัญชาติเมียนมา ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกขบวนการนายหน้านำพาจากประเทศเมียนมา เข้ามาขายบริการทางเพศในประเทศไทย เป็นต้น

การดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลไทยได้รับการปรับเพิ่มสถานะจากระดับ Tier 3 เป็น Tier 2 (Watch list) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report 2016) ของประเทศสหรัฐอเมริกา

ปีงบประมาณ 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับผลงานการประเมินจากหน่วยงานกลาง มีผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) จาก ป.ป.ช. ด้วยคะแนนร้อยละ 88.13 เป็นลำดับที่ 16 ของประเทศ รางวัลการจัดทำมาตรฐานความโปร่งใสของส่วนราชการ ได้รับรางวัลการจัดทำมาตรฐานความโปร่งใสของส่วนราชการ 5 ปีขึ้นไป จากสำนักงาน ก.พ. และรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2560 สาขาการบริการภาครัฐ : ประเภทรางวัลการบริการภาครัฐระดับดี จากสำนักงาน ก.พ.ร.

e-book