“บิ๊กอู๋”ลงแม่สอด จัดฟังก์ชั่นแรงงาน รับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

26 ธ.ค. 2560 | 04:20 น.
“รัฐมนตรีแรงงาน”ลงพื้นที่แม่สอด จ.ตาก ตรวจติดตามการดำเนินงานของศูนย์ออกเอกสารฯเมียนมา จัดระบบ ลดขั้นตอน สร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

IMG_5741 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าตรวจติดตามการดำเนินงานศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคลสัญชาติเมียนมาของจังหวัดตาก (CI) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 298 หมู่ 2 ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.60 ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 24 ธ.ค.60 มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาจำนวนทั้งสิ้น 56,000 คน ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 40,000 คน โดยพิสูจน์สัญชาติได้วันละ 500 - 700 คนต่อวัน ที่เหลือ 16,000 คน ยังรอการพิสูจน์สัญชาติ โดย พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวว่า จากผลการดำเนินการของศูนย์ฯ เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งรัฐบาลจะเน้นการบริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะปรับลดขั้นตอนต่างๆให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้แต่ละกระบวนการมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้จัดหางานจังหวัดเป็นหน่วยงานเจ้าภาพบริหารจัดการให้มีระบบมากยิ่งขึ้น ไม่มีการล็อคคิว โปร่งใสและตรวจสอบได้

IMG_5813 จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้ตรวจติดตามการดำเนินงานของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง (OSS) ปัจจุบันศูนย์ OSS จ.ตาก ให้บริการคำปรึกษาแก่นักลงทุนเรื่องการจ้างแรงงานต่างด้าว การออกใบอนุญาตทำงาน ให้บริการจัดหางานภายในประเทศเพื่อคนไทย ซึ่งระหว่าง  26 ก.ย. - 25 พ.ย.60 มีผู้ลงทะเบียนสมัครงาน 160 คน ได้บรรจุงาน 157 คน รับแจ้งตำแหน่งงานว่างในจังหวัด 236 อัตราจากนายจ้าง 89 ราย สำรวจและจัดทำทะเบียนกำลังแรงงาน โดยมีข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับทั้งสิ้น 2,743 คน และพบว่า ธุรกิจที่มีผู้ต้องการลงทุนในพื้นที่มากที่สุด คือ ค้าปลีกค้าส่ง รองลงมา คือ จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และจำหน่ายยานยนต์ ตามลำดับ

IMG_5738 นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังได้เยี่ยมชมการฝึกทักษะอาชีพเทคนิคการสอนงาน ณ บริษัท โอเมก้า ออโต้พาร์ท จำกัด ผู้ผลิตชุดสายไฟรถยนต์ และตรวจติดตามการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตาก แห่งที่สอง (แม่สอด) ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยให้บริการงานด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ประชาชน อาทิ รับสมัครฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ฝึกอบรมและเพิ่มทักษะให้กับแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ทดสอบมาตรฐานฝีมือ รับรองหลักสูตรและความรู้ความสามารถ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้มีข้อสั่งการให้แรงงานจังหวัดเป็นหัวโต๊ะบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดอย่างมีเอกภาพ โดยให้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ และในปี 2561 นั้นจะเน้นให้แรงงานเข้าสู่ระบบความคุ้มครองตามระบบประกันสังคมมากยิ่งขึ้น โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15-3