10 CEO จับชีพจรเศรษฐกิจปี 59

05 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
จับชีพจรเศรษฐกิจปี2559 พบดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากมาตรการรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โหมโรงหนักหน่วงในช่วงโค้งท้ายปี2558 ที่จะเริ่มเห็นผลในปี2559 หลังจากที่ประชาชนมีความมั่นใจว่า รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ เช่นเดียวกับการใช้เครื่องมือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)และกระทรวงการคลัง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นร่วมผลักดันมาตรการต่างๆ เร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริง

"ฐานเศรษฐกิจ"ประมวลมุมมองจาก 10 ซีอีโอ บริษัทชั้นนำมองเศรษฐกิจปี2559 ส่วนใหญ่สะท้อนไปทางบวก แม้จะมีข้อกังวลกับปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของค่าเงินและราคาน้ำมัน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อีกทั้งปัจจัยภายในที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การแก้ปัญหาไอยูยู และข้อกีดกันทางการค้าอื่นๆที่จะตามมา

[caption id="attachment_24635" align="aligncenter" width="400"] วรภัค ธันยาวงษ์ วรภัค ธันยาวงษ์[/caption]

นายวรภัค ธันยาวงษ์

กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า แนวโน้มประเทศไทยเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นทั้งทางด้านการเมืองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายต่างๆจากภาครัฐ อาทิ การช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของความเชื่อมั่น โดยส่วนใหญ่มองว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ราวๆ 2-3% และปี 2559 ที่ 3%

อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นดีขึ้นทำให้วงการอุตสาหกรรมแบงก์ก็น่าจะดีขึ้น ส่วนความเสี่ยงเศรษฐกิจยังคงเป็นเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีมากนัก โดยเฉพาะจีนยังไม่รู้ว่าจะเป็นฮาร์ดแลนดิ้ง(เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง)หรือซอฟต์แลนดิ้ง(เศรษฐกิจค่อยๆ ชะลอตัว) ,ส่วนสหรัฐฯน่าจะฟื้นตัวได้ยุโรปก็น่าจะขยับได้นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงทางด้านสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ ทำให้คนที่ทำอุตสาหกรรมต้นน้ำจะเหนื่อยและความสามารถในการแข่งขันก็ยังเป็นประเด็นอยู่ อย่างไรก็ดีธนาคารกรุงไทย วางกรอบสินเชื่อปี 2559ว่าจะเติบโตเพียง 3 %

"ประเทศไทยเริ่มมีเสถียรภาพทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจเป็นสัญญาณดีของความเชื่อมั่น"

[caption id="attachment_24641" align="aligncenter" width="400"] อิสระ ว่องกุศลกิจ อิสระ ว่องกุศลกิจ[/caption]

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ

ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 3% ขณะที่การประชุมหอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีปฏิญญาร่วมกันที่จะช่วยกันผลักดันร่วมกับภาครัฐทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2559 ขยายตัวเกิน 4%

แต่ก็ยังมีปัจจัยลบที่ต้องพึงระวัง ได้แก่ เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว อาจกระทบต่อการส่งออกไทย เรื่องที่สหภาพยุโรป(อียู)ให้ไทยเร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู)ที่ผลการตัดสินจะออกมาในต้นปีหน้าว่าไทยจะถูกยกเลิกใบเหลืองหรือไม่ ซึ่งคำตัดสินที่จะออกมาจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปตลาดอียู เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องแรงงานเด็ก และมาตรการกีดกันทางการค้า เรื่องมาตรฐานต่างๆ รวมถึงสงครามในต่างประเทศ รวมถึงภัยแล้ง ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

"จะร่วมกับภาครัฐทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2559 ขยายตัวเกิน 4%"

[caption id="attachment_24638" align="aligncenter" width="400"] ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์[/caption]

นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์

ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) มองเศรษฐกิจปี 2559ว่า แนวโน้มยังเป็นบวกอยู่ จากการลงทุนของภาครัฐด้านโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 สาย ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพราะสินค้าประเภทที่อยู่อาศัยมีมูลค่าสูงขึ้นตลอดเวลา เช่น ซื้อวันนี้ปีต่อไปก็ขึ้นอย่างน้อย 5-7% นอกจากนี้เออีซี ก็เป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นสำคัญ เพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง ชาวต่างชาติจะให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจกับประเทศสมาชิก ก่อให้เกิดแหล่งงานสำคัญ คอนโดฯได้ปัจจัยเสริมจากเออีซีด้วยส่วนหนึ่ง ปัจจุบันคอนโดฯก็มีชาวต่างชาติซื้ออยู่แล้วส่วนหนึ่งประมาณ 10-20%

ราคาก็ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนปัญหาการเมืองระหว่างประเทศไม่น่าเป็นห่วง และไม่กระทบต่อธุรกิจอสังหาฯที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในประเทศ

"โครงข่ายรถไฟฟ้า 10 สายในกทม.และปริมณฑล และเออีซี จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ"

[caption id="attachment_24640" align="aligncenter" width="400"] เทวินทร์ วงศ์วานิช เทวินทร์ วงศ์วานิช[/caption]

 นายเทวินทร์ วงศ์วานิช

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559 เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ ซึ่งจะเห็นได้จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบแนวทางการลดขั้นตอนการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) รวมทั้งยังมีการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เพื่อกระตุ้นโครงการการลงทุนให้เกิดขึ้นเร็ว เนื่องจากในอดีตโครงการที่เข้าร่วมพีพีพี จะต้องใช้เวลาดำเนินการนานถึง 1 ปี 10 เดือน ก่อนจะถึงขั้นตอนการประกวดราคา ทำให้แต่ละโครงการเกิดความล่าช้า แนวทางใหม่ จะมีกลไกการทำงานที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลออกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้เอกชนเร่งการลงทุน ในส่วนของ ปตท.ก็มีการลงทุนประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนงานที่วางไว้ในระยะยาว แต่ก็จะพิจารณาด้วยว่าจะมีโครงการใดที่จะลงทุนเพิ่มเติมอีกหรือไม่ แม้ปัจจุบัน ปตท.จะใช้นโยบายการลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง หลังรายได้ปรับตัวลดลงจากผลกระทบราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงแรง ซึ่งปีนี้ได้เริ่มดำเนินการบ้างแต่ยังลดรายจ่ายได้ไม่มากนัก โดยกลุ่ม ปตท. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนทำให้ต้องทบทวนการลงทุนแต่ละโครงการให้มีความรอบคอบเพิ่มขึ้น

"เศรษฐกิจปี 2559 จะปรับตัวดีขึ้นเห็นได้จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ"

[caption id="attachment_24639" align="aligncenter" width="400"] ศุภชัย เจียรวนนท์ ศุภชัย เจียรวนนท์[/caption]

 นายศุภชัย เจียรวนนท์

กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง ตรงที่ปรับตัวต่อความต้องการของตลาดโลกไม่ทัน เพราะฉะนั้นเราต้องขยับสู่high technology และการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อให้แข่งขันได้ การใช้แรงงานและการผลิตจะเป็นรูปแบบเดิมต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ประกอบกับการลงทุนต่างประเทศมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในทุกความเสี่ยงมีโอกาสที่ดีเสมอ เราควรเอาปัจจัยความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายใหญ่ของภูมิภาค เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) และ ยุทธศาสตร์ One belt One road ของประเทศจีน มาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ เราต้องรีบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีเพื่อดึงดูดทุนมาประเทศไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ อันที่จริงประเทศไทยมีความโดดเด่นที่สุดในการเป็นศูนย์กลางของเออีซี จังหวะนี้เป็นโอกาสของประเทศไทยจริงๆ

"เราต้องขยับสู่ high technology และการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อให้แข่งขันได้"

[caption id="attachment_24643" align="aligncenter" width="400"] สนั่น อังอุบลกุล สนั่น อังอุบลกุล[/caption]

 นายสนั่น อังอุบลกุล

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2559 จะมีการขยายตัวได้ดีกว่าปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2559 จะขยายตัวอยู่ระหว่าง 3.5 – 4.5% เทียบกับปีนี้ ที่ประมาณการอยู่ระหว่าง 2.5 – 2.8% จากที่รัฐบาลเร่งรัดการใช้จ่ายตามงบประมาณให้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การลดภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ นโยบายส่งเสริมสินเชื่อบ้าน เป็นต้น นโยบายการลงทุนโดยภาครัฐ ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน เกี่ยวกับโครงการเส้นทางเดินรถไฟฟ้าเส้นสีต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเริ่มมีการประมูลโครงการในราวกลางปี 2559 จะช่วยกระตุ้นการลงทุนอื่น ๆ และบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น อีกทั้ง ในด้านการส่งออก คาดกันว่า น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากที่การส่งออกติดลบประมาณ 5% ในปีนี้

เนื่องจากธุรกิจพยายามปรับตัว ทั้งในการขยายตลาดใหม่ ๆ การปรับปรุงคุณภาพสินค้าและราคา

"การขยายตัวด้านโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นตัวส่งเสริมหลักในการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2559 ธุรกิจที่จะได้รับผลดี จะเป็นกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เป็นหลัก ด้านการสื่อสารก็น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะยังมีความต้องการใช้อีกมาก การพัฒนาเป็น 4 จี จะทำให้สามารถพัฒนา Product ต่าง ๆ รองรับความต้องการและประยุกต์ใช้ด้าน IT ที่กว้างขวางขึ้น ด้านพลังงาน ราคาที่ตกต่ำลง ก็น่าจะถึงหรือเกือบถึงจุดต่ำสุดแล้ว โอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้น จึงมีมากขึ้นในปี 2559"

สำหรับในประเทศไทยต้องพยายามปรับตัวให้อยู่รอดได้ตามสภาพแวดล้อมการเมืองและเศรษฐกิจของโลก ความเสี่ยงที่ควรพิจารณาแก้ไขจริงจัง ได้แก่ ภาวะแล้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2559 รวมทั้งปัญหาพื้นฐานต่าง ๆ ที่ค้างเดิม ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการพัฒนาประเทศ เช่น ปัญหาเรือประมง ระบบการบินสากล ปัญหาหนี้ครัวเรือน รายได้ภาคเกษตรตกต่ำ ฯลฯ ควรได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องและจริงจัง การปรับตัวต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะมีการผันผวนมากขึ้นในปี 2559 ซึ่งเชื่อกันว่าค่าเงินบาทน่าจะอ่อนตัวลงจากระดับปัจจุบัน โดยมีบางแหล่ง ประมาณการว่า บาทจะอ่อนตัวได้ถึง 37 – 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ธุรกิจจึงควรมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ด้วย อีกทั้งต้องระมัดระวังผลกระทบจากนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยของไทยสูงตามได้

"โครงสร้างพื้นฐานจะเป็นตัวส่งเสริมหลักในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"

[caption id="attachment_24637" align="aligncenter" width="400"] ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ[/caption]

 ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) มองภาพเศรษฐกิจปี 2559 ว่า ในส่วนเศรษฐกิจโลกคาดว่าซบเซา ส่วนเศรษฐกิจไทยมองว่าจะค่อยๆฟื้นตัว หรือโงหัวได้ แต่มองว่าจีดีพีจะขยายตัวไม่เกิน 3 % โดยครึ่งปีแรกจะยังซบเซา

สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปีหน้ามี 3 เรื่องหลักที่ต้องจับตา คือ 1. เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้ประเทศที่เป็นเจ้าหนี้กลายเป็นลูกหนี้ โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และ3. ปัจจัยในประเทศ ความเสี่ยงคือ ความล่าช้าของโครงการเมกะโปรเจ็กต์มูลค่า 1.79 ล้านล้านบาท

สำหรับโอกาสในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในภาคตลาดทุน โดยเฉพาะของเอเซีย พลัส คือ ธุรกิจวาณิชธนกิจ ที่จะมีทั้งการเป็นที่ปรึกษาการร่วมทุน การซื้อ-ขายและควบรวมกิจการ ตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งจะมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น

"ระวังปัจจัยเสี่ยง 3 ด้านเศรษฐกิจจีน ราคาน้ำมัน และความล่าช้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน"

[caption id="attachment_24642" align="aligncenter" width="400"] สแตนลีย์ คัง สแตนลีย์ คัง[/caption]

 นายสแตนลีย์ คัง

ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโส บริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559ว่า จะพอๆกับปี2558 คือยังไม่ดีเพียงพอ แต่ก็เป็นเหมือนกันทั่วโลก เศรษฐกิจไทยดาวน์เทรนด์ (แนวโน้มขาลง)ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด ตั้งแต่ที่ราคาน้ำมันทั่วโลกดำดิ่งลงมา ปีนี้เป็นปีที่ 2 แต่โดยวัฏจักรแล้วจะลงมา 3 ปีแล้วจึงจะพลิกฟื้นกลับขึ้นไป ฉะนั้นปัญหาส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอก ดังนั้นปี2559 อัตราการเติบโตของจีดีพียังจะลดลงมาอีก ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์โลก เพราะจีดีพีเราอาศัยการส่งออกมาก และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากการลงทุนของต่างชาติ จีดีพีปี 2559 คงจะพอๆกับปี 2558หรือไม่ก็อาจจะลดลงเล็กน้อย น่าจะราว 2.5% ขึ้นไป

แต่อย่างเพิ่งคาดหวังว่าจะกลับไปเป็นที่อัตรา 3% หรือ 4% คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าปี2558 อยู่ที่ 2.9% ปีหน้าก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 2.7%

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่านโยบายของรัฐบาลในเวลานี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหา รวมทั้งปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ นโยบายที่มีอยู่นี้มาในทิศทางที่ดีแล้ว แต่กว่าจะเห็นผลคงต้องใช้เวลา ไม่ใช่เปิดปุ๊บติดปั๊บ ผมมีความมั่นใจในนโยบายที่ออกมา ความสามารถในการแข่งขันของไทยจะกลับมาในระยะ 3-5 ปี ผมเชื่อเช่นนั้น

ภาคธุรกิจมีการปรับตัว หลายสิ่งบริษัทเอกชนเราก็ทำอยู่ เช่น การติดตั้งเครื่องจักรกลที่ทันสมัย หรือนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในงานบริหารเพิ่มขึ้น เป็น e-Business ใช้งานเอกสารที่เป็นกระดาษน้อยลง นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วมากขึ้น การบริหารคุณภาพก็ดีขึ้น ทางภาครัฐเองก็กำลังปรับปรุงเปลี่ยนแปลง มีนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล มี e-Government ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ต้องมีการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น เราเอาความทันสมัยเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพงาน

"นโยบายที่มีอยู่มาในทิศทางที่ดีแล้ว แต่กว่าจะเห็นผลคงต้องใช้เวลา ไม่ใช่เปิดปุ๊บติดปั๊บ"

[caption id="attachment_24645" align="aligncenter" width="400"] ตัน ภาสกรนที ตัน ภาสกรนที[/caption]

 นายตัน ภาสกรนที

กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีความมั่นใจว่าปี 2559 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะดีขึ้นกว่าปีนี้ในทุกด้านอย่างแน่นอน โดยปัจจัยหลักมาจากการที่รัฐบาลเดินหน้าลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เข้าสู่ระบบ โดยในปี 2558 สภาพเศรษฐกิจของไทยถือว่ามาถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายปี ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก สินค้าภาคการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร เม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐยังกระจายไม่ถึงภาคประชาชน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ และราคาน้ำมันที่ค่อนข้างผันผวน โดยเศรษฐกิจขาลงถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศจะต้องเผชิญอยู่แล้ว เนื่องจากมีปัจจัยลบจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน รวมไปถึงปัญหาค่าเงิน

ขณะที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีและการลงทุนรถไฟไทย-จีน จะมีทั้งปัจจัยบวกและลบ คือสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศและมีขนาดตลาดใหญ่ที่ใหญ่ขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลุ่มทุนจากประเทศอื่นๆก็พร้อมมาลงทุนในไทยเช่นกัน

"แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการเปิดเออีซีคือข้อดีของการทำธุรกิจ แต่อย่าลืมว่าเมื่อเรารุกขยายตลาดต่างประเทศได้ ต่างประเทศก็สามารถเข้ามาทำตลาดในบ้านเราได้เช่นกัน และกลุ่มนักลงทุนจีนคือกลุ่มทุนที่น่ากลัว เพราะแม้เราจะมีข้อดีคือการเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่อย่าลืมว่ามีกลุ่มทุนจีนที่พร้อมจะอัดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในบ้านเราด้วยเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะทำมากที่สุดเพื่อรองรับสภาพเศรษฐกิจและหาโอกาสทางการเติบโตในปีหน้าคือต้องมีการขยายธุรกิจไปทำตลาดยังต่างประเทศให้มากที่สุด "

"มั่นใจว่าปี2559 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะดีขึ้นกว่าปี 2558ในทุกด้านแน่นอน"

[caption id="attachment_24644" align="aligncenter" width="400"] ชนินทธ์ โทณวณิก ชนินทธ์ โทณวณิก[/caption]

 นายชนินทธ์ โทณวณิก

กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2559 การท่องเที่ยวไทย ยังเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่มีแนวโน้มเติบโตในระดับสูงซึ่งรัฐบาลตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2.3 ล้านล้านบาท (การท่องเที่ยวภายในประเทศและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ)

"ปี 2559 การท่องเที่ยวไทยจะขยายตัวมากกว่าปี 2558 ได้ปัจจัยบวกจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวอาเซียน ที่มีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน เดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้มากขึ้น หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจใน 3 ประเทศอาเซียน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มีประชากรรวมกันสูงถึง 400 ล้านคน ซึ่งไทยก็ถือเป็นเดสติเนชันที่คนอาเซียนชอบมาเที่ยวและช็อปปิ้ง ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็ไม่น่าจะเลวร้ายลงไปกว่านี้ ส่วนเศรษฐกิจจีนก็คงโตช้าลง แต่เชื่อว่ารัฐบาลจีนคงไม่ปล่อยให้หัวทิ่ม ดังนั้นการเดินทางมาเที่ยวไทยก็ยังคงเป็นโมเมนตัมที่เติบโตต่อเนื่องจากปี2558"

สำหรับปี 2559 อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการขยายฐานนักท่องเที่ยวในกลุ่มคุณภาพเป็นหลัก ซึ่งต้องมีการวางแผนและกลยุทธ์ที่ชัดเจนเห็นผล ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องดูแลเป็นพิเศษ คือเรื่องความปลอดภัยในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงททท.ควรพิจารณาในเรื่องของการกระจายตลาดนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวไทยพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป อย่างตลาดจีน

"รัฐตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวไว้ที่ 2.3 ล้านล้านบาท "

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559