การค้าลงทุนไทย-จีนปี 59 มุมมอง‘อู๋ จื้อ อี้’นับวันยิ่งโต

04 ม.ค. 2559 | 10:00 น.
จากเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาในปี 2558 ที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่ลดลงอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ดีความสำคัญของจีนนอกจากจะเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของไทยแล้ว ยังมีความสำคัญในแง่การลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอของไทยระบุในปี 2558 จีนเข้ามาลงทุนโดยตรง(FDI)ในไทยด้วยปริมาณเงินลงทุนมากสุดเป็นอันดับ 1 แซงหน้าการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก สำหรับแนวโน้มการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวไทย - จีนในปี 2559 จะเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์นายอู๋ จื้อ อี้ นายกสมาคมการค้าและการลงทุนเอเชียน - สากลผู้คร่ำหวอดในวงการค้า การลงทุนไทย - จีนมายาวนานเพื่อสะท้อนมุมมองดังรายละเอียด

ค้าไทย - จีนโตต่อเนื่อง

"อู๋" ฟันธงว่าการค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2559 และปีต่อๆ ไปจะดีขึ้นเรื่อยๆ มีปัจจัยจากในปี 2559 อาเซียน 10 ประเทศจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ ภาษีนำเข้าของทั้ง 10 ประเทศจะลดลงเป็น 0% ขณะที่ยังมีการเปิดเสรีการค้าภายใต้อาเซียนบวก 6 (อาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์)ก็จะทำให้นักธุรกิจจีนทำการตลาดได้กว้างขึ้น

สำหรับการค้าไทย-จีน จากข้อมูลของทางฝ่ายจีนในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ. 2557) มีมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากเทียบกับความสัมพันธ์ไทย - จีนที่เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) ในปีนั้นมีมูลค่าการค้า(ส่งออก-นำเข้า)ระหว่างกัน เพียง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จากสถิติในปี 2557 ได้เพิ่มขึ้นถึง 2,800 เท่า ซึ่งแนวโน้มการค้าไทย - จีนในปี 2559 คาดจะดีขึ้นจากรัฐบาลจีนจะสามารถจัดการปัญหาเศรษฐกิจภายในได้ดีขึ้น

 จีนแห่ลงทุนไทยแซงญี่ปุ่น

ขณะที่ด้านการลงทุนมองว่านับจากนี้ไปจะมีนักธุรกิจจีนเข้าลงทุนในอาเซียนมากขึ้นเนื่องจากไทยมีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จุดเด่นดึงดูดการลงทุนของไทยอย่างแรกคือนโยบายของรัฐบาล(บีโอไอ)สนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และให้สิทธิประโยชน์ที่ดึงดูดใจคือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลใน 8 ปีแรก และหลังจาก 8 ปีก็จะเก็บภาษีเพียงครึ่งหนึ่ง รวมถึงต่างชาติยังสามารถถือหุ้นได้ 100% หากลงทุนเพื่อผลิตส่งออก และหากลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถถือครองที่ดินได้เต็มร้อย มีการอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า และมีวัน-สต๊อปเซอร์วิสในการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ขณะที่ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาช้านานทั้งในระดับผู้นำรัฐบาลและระดับภาคประชาชน และไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่ต่อต้านจีน

"กรณีที่เม็ดเงินการลงทุนของจีนในไทยแซงหน้าญี่ปุ่น นอกจากเป็นผลจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ที่สำคัญ ยังเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้ประกอบการออกมาลงทุนต่างประเทศตามเส้นทางเชื่อมโยงการค้าใหม่ของจีน(One Belt and One Road หรือเส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21) ซึ่งไทยเป็นเส้นทางหนึ่งที่เริ่มจากทางตอนใต้ของจีน"

 รับต้องหาที่ระบายสินค้า

ขณะเดียวกัน จากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว จากก่อนหน้านี้เคยเติบโตระดับตัวเลข 2 หลักเฉลี่ย 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี เหลืออัตราการเติบโตเพียงตัวเลขหลักเดียว เช่นปี 2557 ขยายตัว 7% ขณะที่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ลดลงมาเหลือ 6.9% ส่งผลให้ซัพพลายสินค้าจีนค่อนข้างล้นตลาด ผู้ประกอบการจีนมีความจำเป็นต้องหาแหล่งระบายสินค้าของตัวเอง ก็เลยเริ่มมองหาตลาดต่างประเทศเป็นตัวหลัก

นอกจากนี้ช่วงหลายสิบปีก่อนที่เศรษฐกิจจีนเริ่มเติบโต ทำให้ค่าครองชีพ ค่าจ้างแรงงานรวมถึงค่าเช่าพื้นที่ต่างๆ ในจีนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการของจีนเริ่มมองหาโอกาสการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่างประเทศไทย

 3 เป้าหมายลงทุนไทย

"เป้าหมายจีนที่มาลงทุนไทยเพื่อใช้ไทยเป็นตลาด รวมถึงเป็นฐานการผลิตส่งออกไปยังประเทศแถบอาเซียน รวมถึงส่งสินค้ากลับไปจำหน่ายในจีน เพราะสินค้าหลายอย่างผลิตในไทยมีต้นทุนถูกกว่า เช่น ยางรถยนต์จากไทยมีวัตถุดิบยางพารามาก รวมถึงการผลิตสินค้าด้านการเกษตรที่ไทยมีวัตถุดิบอื่นๆ โดยผสานกับเทคโนโลยีหรือเทคนิคของจีน เช่น เครื่องปรุงรสอาหารต่างๆ และยังมีเป้าหมายใช้ฐานการผลิตในไทยส่งออกสินค้าไปยุโรป และอเมริกาที่ในบางสินค้าสินค้าจีนถูกกีดกันหากส่งออกไปจากจีนโดยตรง ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีนทำการสำรวจมาทั่วโลกในปี 2014 พบว่าทั่วโลกค่อนข้างจะกีดกันสินค้าจีน ทำให้จีนเสียโอกาสในการเข้าไปทำตลาดค่อนข้างมาก"

 แนวโน้ม ศก.จีนยังต้องลุ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2559 "อู๋"ให้ทรรศนะว่า เศรษฐกิจจีนเวลานี้มีอุปสรรคอยู่มาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนได้กระตุ้นให้ภาคธุรกิจเตรียมรับมือ และพยายามรักษาสถานภาพธุรกิจให้เป็นปกติและปรับตัวให้ดีขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกเริ่มไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2558 สุดท้ายแล้วจะโตขึ้นหรือลดลง รวมถึงจับตาในปี 2559ว่าจะเป็นอย่างไร

"เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนได้จัดประชุมใหญ่ทั่วประเทศเพื่อวางมาตรการป้องกันเศรษฐกิจทรุดตัว และมีเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ ฉบับที่ 13 (2559-2563)เศรษฐกิจจีนต้องเติบโตไม่ต่ำกว่า 6.5% โดยภายในของจีนเองเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน เช่นการทำเป็นเขตการค้าเสรีภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกวางตุ้ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ฝูเจี้ยน และอีกมาตรการหนึ่งคือ เพิ่มการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ และปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้น ส่วนในเมืองเล็กๆ ตามต่างจังหวัดก็เริ่มมีไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือการกินอยู่ ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เริ่มมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในมุมมองผมเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นได้"

 สมาคมแนวหน้าเชื่อมไทย - จีน

"อู๋" กล่าวถึงสมาคมการค้าและการลงทุนเอเชียน-สากลว่า ตั้งขึ้นมาหลายปีแล้วโดยมีแนวคิดเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าไทยไปทำการค้าการลงทุนที่จีน หรือจีนมาทำการค้า การลงทุนที่ไทย โดยช่วงที่ผ่านมาทางสมาคมได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับทางรัฐบาลจีนรวมถึงสมาคมการค้าต่างๆ ของจีนแล้วกว่า 60 ฉบับ และในแต่ละปีจะมีการรวบรวมและนำนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการไทยไปร่วมงานแสดงสินค้าตามเมืองหรือมณฑลต่างๆ ของจีน รวมถึงนำนักธุรกิจจีน หรือตัวแทนหน่วยงานของรัฐบาลจีนมาสำรวจ มาเจรจาการค้า การลงทุน รวมถึงจัดงานแสดงสินค้าที่ไทย

"ในปี 2559 ทางสมาคมมีเป้าหมายจะรวบรวมผู้ประกอบการไทยไปร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเปิดตลาดจีน เบื้องต้นมีลิสต์ออกมามากกว่า 30 งาน ซึ่งในปีที่ผ่านมาทางสมาคมได้เซ็นสัญญากับหน่วยงาน สสว.ของไทย ความตกลงที่สำคัญคือหากหน่วยงานรัฐบาลไทยไม่ว่ากระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯจะไปจัดงานที่จีนจะให้เราเป็นผู้บริหารจัดการแทน ช่วยการันตีได้เป็นอย่างดีว่าสมาคมมีชื่อเสียงระดับแนวหน้า"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559