เลิกจ้าง‘ล้ง’ตกงานกว่า5พัน ร้องศูนย์ดำรงธรรมช่วย/บิ๊กแช่แข็งยันต้องรักษาส่งออก

04 ม.ค. 2559 | 09:30 น.
ล้งเดือดร้อนหนัก โร่ร้องศูนย์ดำรงธรรมสมุทรสาครขอความเป็นธรรม หลังสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งประกาศกร้าว ดีเดย์ 1 ม.ค. 59 ยกเลิกว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำจากภายนอก เผยตกงานทันทีกว่า 5 พันคนกระทบเศรษฐกิจ ก่อปัญหาสังคมตามมา "พจน์" เผยจำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาตลาดส่งออก ขณะบิ๊ก ศปมผ. เร่งรัดทุกหน่วยงานส่งการบ้าน พร้อมรับประเมินใบเหลืองไอยูยู

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) ในจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นายอาคม เครือวัลย์ ประธานสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทำหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร ภายหลังจากที่สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ให้สมาชิกสมาคม หยุดซื้อ/ยกเลิกการว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นจากภายนอกที่สำคัญคือกุ้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป และให้สมาชิกสมาคมย้ายการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นเข้ามาในสถานประกอบการของตนเองเพื่อให้สามารถควบคุมมาตรฐานสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน หลังยังมีกระแสโจมตีจากต่างประเทศเรื่องไทยใช้แรงงานทาส

จากมติดังกล่าวทำให้ล้ง ซึ่งมีจำนวนมากในจังหวัดสมุทรสาครรวมแรงงานกว่า 5 พันคนต้องตกงานทันที และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าในพื้นที่ รวมถึงกระทบด้านสังคมที่อาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมาจากการว่างงาน

"การที่สมาคมมีมติออกมาเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการล้งและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นอาจแก้ไขโดยวิธีการอื่น เช่น เข้าตรวจสอบสถานประกอบการล้งทุกล้ง ให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของสมาคมและกฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้นอีก โดยอาจจะมีการยกระดับล้งให้ถูกต้องตามมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงงาน หรือหากสมาชิกของสมาคมรายใดไม่ดำเนินการการตรวจสอบล้งในเครือของตน หรือหากสมาชิกรายใดมีปัญหาจริงก็ควรตัดสมาชิกเป็นรายไป ไม่ควรนำมาตรการบังคับตามมติดังกล่าวมาบังคับแก่สมาชิกทั้งหมดที่มิได้ปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์ของสมาคม"

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงกรณียกเลิกล้งว่า ความจริงก็ไม่อยากทำ แต่จำเป็นต้องรักษาตลาดส่งออก เปรียบเหมือนกับหมอ จำเป็นต้องตัดอวัยวะส่วนน้อยเพื่อรักษาชีวิตไว้

ขณะที่ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้บัญชาการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เปิดเผยว่า ทางคณะจากสหภาพยุโรป (อียู) จะเดินทางมาตรวจประเมินผลการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยูฟิชชิ่ง ของไทยในเดือนมกราคม 2559 ดังนั้นจึงได้เร่งรัดคณะทำงานต่างๆ อาทิ จัดระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปแนะนำ และเป็นไปตามความต้องการ คือมุ่งเน้นการนำไปใช้ตรวจสอบพฤติกรรมการทำการประมงและเชื่อมโยงข้อมูลกับการออกใบอนุญาตจับสัตว์น้ำ คาดว่าจะสามารถทดลองใช้งานระบบได้ ภายใน 15 มกราคม 2559 รวมทั้งได้มีการประสานกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ในการสนับสนุนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน ซึ่ง ILO ให้ได้การสนับสนุนส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมแลกเปลี่ยนความรู้แล้ว

แหล่งข่าวที่ประชุม ศปมผ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศปมผ.เตรียมประกาศห้ามเรือประมงขนถ่ายสินค้าในทะเล และให้เรือประมงนอกน่านน้ำเข้ารับการตรวจ ณ ท่าเรือในประเทศไทย และจะบังคับให้มีผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ รวมทั้งจะมีการพิจารณาร่างอนุบัญญัติประกอบ พ.ร.ก.ประมง จำนวน 53 ฉบับ และยังเหลือกฎกระทรวง 4 ฉบับ ประกาศ 23 ฉบับ และระเบียบ 2 ฉบับ รวมทั้งจะมีการพัฒนาระบบออกทะเบียนเรืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-License แบบเรียลไทม์และออนไลน์ เพื่อดำเนินงานติดตั้งให้ทุกส่วนภูมิภาค ปัจจุบันข้อมูลดังกล่าวยังมีความผิดพลาด อาทิ กรณีเรือที่สถานะปัจจุบันไม่ใช่เรือประมง เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559