ระเบิดเวลา ‘สังคมผู้สูงอายุ’ กระทุ้งรัฐจัดเป็น ‘วาระแห่งชาติ’

05 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่งวดเข้ามาทุกที ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์" (Complete Aged Society )ในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 ที่จะมีถึง 1 ใน 5 จากที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) มาแล้วโดยมีสัดส่วนคนอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 10% เมื่อปี 2543 (ตามนิยามองค์การสหประชาชาติ) และคาดจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) คือมากถึง 30% ในอีก 20 ปี หรือปี 2578

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ผ่าน 2 มุมมองผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้โดยเฉพาะคือ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( ทีดีอาร์ไอ) และ พ.ญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)เพื่อสะท้อนถึงการเตรียมความพร้อมของภาครัฐ

[caption id="attachment_24651" align="aligncenter" width="500"] ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์[/caption]

  “รักษาพยาบาล-หลักประกัน” จุดเสี่ยง

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ กล่าวว่าประเด็นของสังคมผู้สูงอายุอยู่ที่ 2 เรื่อง คือ 1. การรักษาพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งเป็นระบบดูแลระยะยาว แต่เม็ดเงินภาษีจากวัยแรงงานที่จะจะซัพพอร์ตบริการสาธารณะแนวโน้มกลับลดลง สวนทางกับรายจ่ายในการดูแลผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันงบประมาณด้านสุขภาพของทุกระบบโดยรวมคิดเป็น 17% ของงบประมาณ) 2. ความเพียงพอของหลักประกันรายได้ ทั้งในกลุ่มลูกจ้างตามระบบประกันสังคมที่มีราว 10 ล้านคน ที่ในระยะยาว 20 ปี ภาครัฐต้องใช้เงินจำนวนมากจ่ายเป็นบำนาญให้กับผู้เกษียณอายุ และอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงไม่น้อยกว่ากัน คือแรงงานนอกระบบ แม้ปัจจุบันจะมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่จะเป็นบำนาญให้กลุ่มเหล่านี้ แต่ยังไม่แอกทีฟ การทำนโยบายหรือโปรโมตที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหา

“ถ้ารัฐยังทำงานแบบตั้งรับในระยะยาวจะมีปัญหาแน่ เพราะขณะนี้สัดส่วนผู้สูงอายุมี 15% ของประชากรในแง่ของภาระรัฐยังไหว แต่ในอีก12 ปีข้างหน้า จะขึ้นเป็น 25% ในปี2570, เป็น 30% ในปี 2578 ภาพตรงนี้ยังไม่ชัดว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังทำอะไร”

ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ 3ข้อคือ

 เสนอตั้งคกก.บำนาญ-เปลี่ยนวิธีจ่ายเงิน

1. รัฐบาลควรตั้ง "คณะกรรมการดูแลระบบบำนาญ" และสร้างระบบฐานข้อมูล เครื่องชี้วัดให้ประชาชนเห็นถึงสถานะการเงินตัวเองว่าเพียงพอต่อความมั่นคงในบั้นปลายหรือยัง 2. ระบบกอช.ควรเปิดกว้างทั้งคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและกอช. เพราะระบบใดระบบหนึ่งในระยะยาวไม่เพียงพออยู่ดี โดยการออมตามขั้นต่ำที่กอช.กำหนด จะไม่พอใช้ในยามเกษียณ นอกจากนี้กอช.ควรสื่อประชาสัมพันธ์ให้แรงส่งเมสเสจให้คนไทยหันมาออมมากขึ้น

3. ประกันสังคมต้องปรับเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินของกองทุนชราภาพ โดยยึดแบบกบข. (กองทุนบำเหน็จข้าราชการ) พร้อมส่งเสริมให้เกิดการออมเพิ่มเพื่อจะได้บำนาญเพิ่ม โดยให้เห็นถึงประโยชน์ว่าได้รับเงินคืนแน่นอนและผลตอบแทนที่ดี ซึ่งต้องบริหารจัดการดีสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ โดยควรใช้จังหวะนี้แก้กฎหมายกองทุนประกันสังคม

" การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ รัฐต้องยอมคัตลอส (cut loss) จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งยอมจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุรายนั้น ๆจนกว่าจะสิ้นอายุ เพราะคนเหล่านี้ส่งเงินแค่ 15 ปี ทั้งยอดคนและยอดเงินยังต่ำ การคัตลอสจึงทำได้ง่ายกว่า แต่หลังจากนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินโดยยึดแบบกบข.แทน ถ้ายังปล่อยช้าไป 10 ปีจะเข้าไฟเหลือง ช้ากว่านั้นก็เป็นระดับไฟแดง"

ปรับทัศนคตินำเข้าแรงงานตปท.

ส่วนประเด็นความสามารถในการแข่งขัน ไทยจะเสียเปรียบประเทศในอาเซียนหรือไม่ ? ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันดัชนีความสูงวัยไทยอยู่ที่ 83 นั่นคือมีผู้สูงอายุ 83 คนต่อเด็ก 100 คน สูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์อยู่ที่มีผู้สูงอายุ 113.8 คนต่อเด็ก 100 คน และอันดับ 3 คือเวียดนาม 42 คนต่อเด็ก 100 คน และคาดว่าในปี 2563 ดัชนีความสูงวัยของไทยจะสูงถึง 113.9 นั่นคือมีผู้สูงอายุ 113 คนต่อเด็ก 100 คน

"สถานการณ์ตอนนี้ ไทยยังได้ประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัยทำงานมากกว่า ซึ่งคนไทยควรปรับทัศนคติในเรื่องนโยบายรับแรงงานคนต่างด้าว เพราะท้ายสุดอาจเป็นช่องทางที่ให้ผลเร็วและแรงกว่าการนั่งรออีก 20 ปีเพื่อมาผลิตลูกกัน (ก.คลังเตรียมปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้ฯ หนึ่งในนั้นคือ "ค่าลดหย่อนภาษีบุตร" จากเดิมกำหนดให้ไม่เกิน 3 คน ของใหม่จะไม่กำหนดจำนวน เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีลูกมากขึ้น)

[caption id="attachment_24649" align="aligncenter" width="500"] พ.ญ.ลัดดา ดำริการเลิศ พ.ญ.ลัดดา ดำริการเลิศ[/caption]

ยุทธศาสตร์ไม่ทันการเพิ่มผู้สูงอายุ

ด้านพ.ญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมส.ผส. กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ "แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ 20 ปี (2545-2564) มาแล้ว 13 ปี แต่แผนดังกล่าวไม่ทันต่อความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่วัยผู้สูงอายุ เพราะไทยใช้เวลาเพียง 20 ปี ที่ผู้สูงอายุเพิ่มจาก 10% ในปี 2543 เป็น 20% ในปี 2564 เทียบกับประเทศอื่น การเพิ่มสัดส่วน 10% เป็น 20% ต้องใช้เวลาถึง 80 ปี

"ใน 5 ยุทธศาสตร์แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ พบว่ายุทธศาสตร์ที่ดำเนินการไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เข้าสู่ผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วก็คือ ยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมคนก่อนวัยสูงอายุ และยุทธศาสตร์ด้านระบบคุ้มครอง โดยเฉพาะที่ช้าไม่ทันการคือ "การสร้างหลักประกันรายได้"

เพราะมีถึง 2 ใน 3 ของแรงงานทั่วประเทศที่หลักประกันรายได้ยังไม่เพียงพอ คือลูกจ้างเอกชนที่อยู่ในกองทุนประกันสังคมและ แรงงานนอกระบบ ส่วนหลังนี้เพิ่งสัมฤทธิผลในรัฐบาลนี้ คือการตั้งกองทุนแห่งชาติ (กอช.) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้ง ๆที่ทำเสร็จตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ขณะที่มาตรการ การสร้างหลักประกันรายได้ โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำก็ยังไม่มีความคืบหน้า

 แนะขยายอายุการทำงาน

พ.ญ.ลัดดา กล่าวว่าปัจจุบันคนไทยมีอายุยาวขึ้น 75 ปี แต่อายุเกษียณของแรงงานภาคเอกชนอยู่ที่ 55 ปี คือล้อไปตามระบบประกันสังคม ซึ่งถือว่าต่ำสุดในบรรดาประเทศอาเซียน เพราะประเทศที่ต่ำสุดก็ยังทำงานกันถึง 58-60 ปี ดังนั้นต้องขยายอายุการทำงาน เพราะหาไม่แล้วสุดท้ายก็จะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เดือดร้อนเพราะมีแรงงานต่างด้าวมาช่วย แต่ในอีก 5-10 ปี ประเทศเหล่านี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเหมือนกัน ก็ต้องkeep แรงงานตนกลับไปอยู่ประเทศตัวเอง

ในขณะที่บทบาทของกอช. ต้องกระตุ้นให้เกิดการออมไม่ใช่แค่ออมขั้นต่ำ และส่งเสริมให้ออมกันตั้งแต่เนิ่น ๆตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยออมขั้นสูงเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือออมโดยที่นายจ้างไม่ต้องสมทบ เพื่อให้มีจำนวนเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งตามรายงาน ณ เดือนพฤศจิกายน 2558 กอช.มีจำนวนสมาชิกแล้ว 5 แสนราย แต่การทำได้ตามเป้าหมายเพียงปีละ 5 แสนรายยังไม่ถือว่าพอ เพราะแรงงานนอกระบบมีมากถึง 22 ล้านคน

เลขาธิการ มส.ผส.ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมคนก่อนวัยสูงอายุ ในเรื่องการสร้างกระบวนเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำให้ผู้สูงวัยมีคุณค่าไม่เป็นภาระของสังคม ที่ผ่านมาก็ยังทำไม่มากพอ ทัศนคติต่อคนสูงวัยในสายตาของคนวัยแรงงานถดถอยเรื่อย ๆมีความรู้สึกว่าคนสูงวัยเป็น "Dead Wood " ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่า ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะจะไม่คิดเอาประสิทธิภาพผู้สูงวัยไปใช้ประโยชน์ ความคิดแบบนี้จะทำให้กำลังการผลิตลดลง

 รัฐยังจัดความสำคัญตํ่า

"การเตรียมพร้อมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนถือว่าได้ดำเนินการไปพอสมควร เพียงแต่ยังไม่เป็นไปตามระบบคือเป็นไปตามปัญหาเฉพาะหน้าที่มองเห็น เช่น ระบบบริการสุขภาพ หลังเจ็บป่วยเฉียบพลันนอนโรงพยาบาล เมื่อฟื้นก็ให้กลับบ้าน แต่เรายังไม่มีระบบชั้นที่ถัดจากโรงพยาบาล เช่น สถานฟื้นฟู เช่นเดียวกับเรื่องการส่งเสริมให้ความสำคัญ ในลักษณะที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำอะไร ที่เห็นก็หน่วยงานที่ทำทางด้านนี้ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติที่ให้ความสำคัญ"

อย่างไรก็ดีสำหรับบทบาทของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยในเฟส 2 เราจะทำในเรื่องการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ โดยความร่วมมือจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และกระทรวงแรงงาน นำร่องสถานประกอบการ 15 แห่งตามความสมัครใจ เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง สร้างความตระหนักของพนักงานทำงานในวัยก่อนผู้สูงอายุคือ 40 ปีขึ้นไปที่จะเตรียมสมรรถนะให้ทำงานต่อได้ โดยแทนที่หน่วยงานเหล่านี้จะเลิกจ้างที่อายุ55 ปี ก็จะเป็น 60 ปี ยัง keep พนักงานได้อีก 5 ปี ซึ่งหากสำเร็จ จะขยายผลเป็น10 เท่าในปี 2560

พ.ญ.ลัดดา กล่าวก่อนทิ้งท้ายว่าแต่น่าเสียดายที่โครงการนี้อาจต้องพับแผน หากมูลนิธิไม่ได้รับงบสนับสนุนงานวิจัย จากสสส.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559