เยือนเมืองชิงเต่า เจาะแหล่ง‘เกาเถี่ย’(จบ)

30 ธ.ค. 2560 | 05:51 น.
หลังจากได้รับข้อมูลเบื้องต้นเรื่องรถไฟความเร็วสูงหรือที่คนจีนเรียกว่า “เกาเถี่ย” จากบริษัท CRRC สำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่งแล้ว คณะสื่อมวลชนไทยได้มุ่งหน้าต่อไปยังเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ซึ่งอยู่ห่างจากปักกิ่งลงมาทางใต้ 819 กิโลเมตร หากนั่งรถไฟธรรมดาต้องใช้เวลา 8.27 ชั่วโมง แต่ด้วยเกาเถี่ย ราคา 314 หยวน (ประมาณ 1,570 บาท) ที่วิ่งในระดับความเร็วไม่เกิน 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถย่นเวลาเหลือเพียง 4.52 ชั่วโมง

“ชิงเต่า” ถือเป็นเมืองท่ายุทธศาสตร์สำคัญจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในปี 1898 เยอรมนีบุกยึดครองแล้วลงทุนพัฒนาเมืองนี้เป็นฐานที่มั่นของกองทัพเรือเยอรมันในมหาสมุทรแปซิฟิก สิ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันคือระบบระบายนํ้าใต้ดินชั้นยอดขนาดใหญ่ที่ยาวถึง 80 กิโลเมตร (ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้) พร้อมกับอาคารบ้านเรือนสไตล์เยอรมัน รวมถึงคฤหาสน์หลังใหญ่ริมอ่าวที่สวยงาม

[caption id="attachment_244451" align="aligncenter" width="503"] โรงงานผลิตรถไฟความเร็วสูงของบริษัท CRRC QINGDAO SIFANG โรงงานผลิตรถไฟความเร็วสูงของบริษัท CRRC QINGDAO SIFANG[/caption]

วันนี้ไม่มีกองเรือเยอรมันที่ชิงเต่า แต่มีกองเรือดำนํ้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนประจำการอยู่ เพื่อรักษาความมั่นคงทางทะเล เพราะในระนาบเดียวกับเมืองชิงเต่าแค่ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรคือกรุงโซลของเกาหลีใต้ และโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกันชิงเต่าวันนี้กลายเป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 2 ของจีนที่ขนส่งสินค้าไปยังท่าเรืออื่นอีก 450 ท่า ใน 130 ประเทศทั่วโลก

หนึ่งในผลผลิตสำคัญจากเมืองชิงเต่าที่คนทั้งโลกรู้จักดีคือ “เบียร์ชิงเต่า” (TSINGTAO) ซึ่งผู้ให้กำเนิดคือชาวเยอรมันที่ลงทุนตั้งโรงงานเอาภูมิปัญญาการผลิตเบียร์ชั้นเลิศมาถ่ายทอดไว้ตั้งแต่ปี 1903 สุดท้ายกลับไปอยู่ในมือเจ้าของแผ่นดินแล้วพัฒนาต่อกลายเป็นเบียร์ดังระดับ TOP 3 ของโลก โรงงานเบียร์ที่ชิงเต่าจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่ต้องแวะไปเยือนเพื่อชมกระบวนการผลิตและลิ้มลองรสชาติเบียร์สดจากแหล่งต้นกำเนิด

นักท่องเที่ยวไทยที่สามารถบินตรงไปเยือนเมืองชิงเต่าอาจจะรู้เพียงว่าเป็นเมืองตากอากาศ Slow Life ของจีนที่แฝงกลิ่นอายยุโรป มีธรรมชาติสวยงาม มี “ภูเขาเหลาซาน” หนึ่งในต้นกำเนิดลัทธิเต๋า มีอาหารทะเลสดอร่อย ฯลฯ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าชิงเต่าคือแหล่งผลิตใหญ่ของ เกาเถี่ย-รถไฟความเร็วสูงของจีน ที่ผลิตป้อนตลาดทั่วประเทศจีนและส่งออก 20 ประเทศทั่วโลกรวมปีละนับพันตู้ เพราะจีนขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงออกไปทุกปี ความต้องการใช้ขบวนรถไฟใหม่จึงไม่เคยหยุดนิ่ง ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องผลิตเพื่อทดแทนตู้เก่าหรือหัวรถไฟเก่าที่ใช้งานมานาน ส่วนตลาดต่างประเทศก็เริ่มถามหารถไฟความเร็วสูงจากจีนที่ได้รับการยอมรับเรื่องมาตรฐานการผลิตและที่สำคัญคือ “ราคาถูกกว่า” แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนในทางการเมือง ก็ยังต้องสั่งของจีนเข้าไปใช้ในบางเมือง

[caption id="attachment_244449" align="aligncenter" width="282"] โรงงานผลิตเบียร์ชิงเต่าก่อตั้งในปี 1903 โรงงานผลิตเบียร์ชิงเต่าก่อตั้งในปี 1903[/caption]

ในการเยือนบริษัท CRRC QINGDAO SIFANG ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CRRC ปักกิ่งได้ให้การต้อนรับอย่างดียิ่งจากผู้บริหารระดับสูงโดยการประสานงานจาก “สำนักข่าวซินหัว” ทำให้ได้ชมขั้นตอนการผลิตอย่างละเอียด นับแต่การออกแบบให้ใช้งานได้ทุกสภาพอากาศ การทดสอบระบบปรับอากาศ ความดันของอากาศ การทดสอบเสียงในทุกระดับความเร็ว การคัดเลือกวัสดุ ระบบการทดสอบความปลอดภัย ความคงทนของชิ้นส่วน ประสิทธิภาพในการผลิตวันละ 6-8 ตู้ เดือนละ 160 ตู้

จุดหนึ่งที่ใช้เวลาชมนานคือการนำเสนอภาพของรถไฟทั้งภายในและภายนอกด้วย ระบบเสมือนจริง (Virtual Reality System) ที่ให้สวมแว่น 3 มิติ มีที่บังคับหมุนภาพได้รอบตัว ทำให้รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในตู้รถไฟจริงๆ จุดประสงค์เพื่อช่วยในการออกแบบ การสั่งออร์เดอร์ และการนำเสนองาน

ถามถึงรถไฟที่จะผลิตให้ไทย ทางฝ่ายบริหารของ CRRC QINGDAO SIFANG บอกว่าเป็น รุ่น CR 250 ที่ประเทศไทยเลือก ซึ่งหมายถึงความ
เร็วน่าจะอยู่ในระดับ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่จะต้องมีการพิจารณา ร่วมกับวิศวกรไทยในด้านรายละเอียด โดยมีการตั้งศูนย์วิจัยที่ประเทศไทยตามข้อตกลงร่วมระหว่างจีน-ไทยในปี 2013

ไปเจาะแหล่งผลิต “เกาเถี่ย” ที่เมืองชิงเต่ามาแล้วได้คำตอบว่า ฝ่ายจีนไม่มีปัญหาเรื่องการผลิตขบวนรถไฟ จะเร็วหรือช้าก็อยู่ที่ฝ่ายไทย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ตอกเสาเข็มการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย จุดแรกที่จังหวัดนครราชสีมาไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ก็ได้แต่หวังว่าการก่อสร้างจะรวดเร็วและคนไทยจะได้มีโอกาสใช้บริการรถไฟความเร็วปานกลางช่วงแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายในปี 2563

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,325 วันที่ 24 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9