ข่าวดีประเทศไทยส่งท้ายปี ‘อียู-สหรัฐฯ’ผ่อนคลายแรงกดดัน

27 ธ.ค. 2560 | 00:07 น.
ย้อนปรากฎการณ์หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ปรากฏเสียงเตือนจากนานาชาติที่ห้ามพลเมืองของตนเข้าประเทศไทยหากไม่จำเป็น และ 43 ประเทศเตือนให้พลเมืองระมัดระวังหากเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดจนควรติดตามสถานการณ์และเลี่ยงสถานที่ชุมนุม หลายประเทศประณามการรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่างๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์แสดงถึงความกังวลต่อวิกฤติการเมืองไทย พร้อมเรียกร้องทุกฝ่าย เคารพหลักการประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา และตอกยํ้าให้เห็นความจำเป็นของการเลือกตั้ง ขู่ซํ้าอีกจะทบทวนความช่วยเหลือแบบกองทัพต่อกองทัพ ระงับ เงินช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศ ไทยมูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเงินช่วยเหลือรวม 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในเดือนกันยายน 2558 เริ่มมีสัญญาณจากนานาชาติ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ราวกลางปี 2560 ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมยํ้าว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560 กระทั่งต่อมารัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติในเดือนสิงหาคม 2559

ผลจากการประกาศโรด แมปของรัฐบาล ทำให้ความเชื่อมั่นของไทยต่อสายตาต่างชาติเริ่มกลับมา รวมทั้งกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา จากที่เคยประกาศจะยกเลิกข้อผูกพันทางทหาร รวมทั้งการเยือนและการฝึกทหาร กองทัพสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจส่งทหารร่วมฝึกซ้อมรบคอบร้าโกลด์ 2016 ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 9-19 กุมภาพันธ์ 2559

“ความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะเติบโตและเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อประเทศไทยคืนสู่ประชาธิปไตย สะท้อนการแสดงถึงพันธะสัญญาที่สหรัฐฯมีต่อรัฐบาลไทย” นายกลิน ที.เดวีส์ (Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวยํ้า หลังจากนั้นดูเหมือนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ กลับเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

TP14-3325-A ++ลดระดับค้ามนุษย์
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ประเทศไทยได้รับข่าวดี หลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทิปรีพอร์ต ประจำปี 2017 ปรากฏว่า สหรัฐอเมริกา ยังคงจัดอันดับให้ไทยอยู่ในระดับ เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง เป็นปีที่ 2 หลังจากอยู่ที่ระดับ เทียร์ 3 ซึ่งเป็นชั้นที่แย่ที่สุด คือเป็นประเทศที่ไม่มีมาตรการสอด คล้องกับสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ปัญหา เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันก่อนหน้านี้

ในรายงานยังระบุด้วยว่าแม้ไทยยังไม่ได้ตามมาตรฐานขั้นตํ่าของสหรัฐฯ ในการกำจัดขบวน การค้ามนุษย์ แต่ก็ได้พยายามอย่างยิ่งยวด ด้วยการอายัดเงินจากขบวนการค้ามนุษย์ได้มากกว่า 784 ล้านบาท มีรายงานเกี่ยวกับการสืบสวน ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดมากขึ้น รวมถึงลงโทษเจ้าของธุรกิจรายหนึ่งที่แสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานบังคับในภาคการประมง และขยายเวลาให้เหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติและพยานพำนักและทำงานในไทยต่อไป รวมทั้งไทยได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการไว้หน้าผู้ใดหากมีการกระทำผิด

++“บิ๊กตู่”ประกาศเลือกตั้งปี61
การเดินทางเยือนสหรัฐ อเมริกาของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามคำเชิญของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกในรอบ 12 ปีที่เดินทางไปเยือนและหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ เป็นผู้นำของอาเซียนคนที่ 3 ที่ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาต่อจากผู้นำเวียดนาม มาเลเซีย
การพบปะกันของ 2 ผู้นำในครั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า เป็นการเจรจาที่ไม่เสียของ เพราะนอกจากการหารือด้านการค้า การลงทุน แล้วยังเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ประเทศการเมือง 2 ขั้ว คือรัฐบาลทหาร และรัฐบาลประชาธิปไตย ได้มีโอกาสคุยกันแบบมหามิตรโดยเฉพาะคำยืนยันจากผู้นำรัฐบาลไทยต่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ประเทศไทยจะเดินตามโรดแมป ไม่มีเปลี่ยน และในปีหน้า (2561) ประเทศไทยพร้อมประกาศวันเลือกตั้ง

++ไทยมีความสุขติดอันดับโลก
วันที่ 6 มีนาคม 2560 สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่ดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ประจำปี 2559 โดยรายงานข่าว 15 อันดับประเทศที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก (The 15 Happiest Economies in the World) โดยระบุว่าไทยมีอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อตํ่าคิดเป็นค่า Misery Index เท่ากับ 2.2 ซึ่งหมายถึงมีความทุกข์ยากตํ่าหรือมีความสุขมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกัน

และวันที่ 15 เมษายน 2560 เครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UNSDSN) ได้ประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ประจำปี 2017 โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดอันดับ 2 ของอาเซียน อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 32 ของโลก

วันที่ 16 ธันวาคม นิตยสารด้านการท่องเที่ยวออนไลน์อันดับ 1 ของฝรั่งเศส Le Routard.com ซึ่งมีผู้อ่านราว 2.5 ล้านคน/เดือน ได้ประกาศว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจและมีผู้ติดตามค้นหามากที่สุดในปี 2016 ในประเภทจุดหมายปลายทางระยะไกล หรือ Long-Haul Destination โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งาน ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2559 และพบว่ามีผู้ติดตามค้นหาเรื่องราวของประเทศไทยมากที่สุดในโลก ตามด้วยสหรัฐอเมริกา คิวบา บาหลี เวียดนาม แคนาดา โดยเว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุว่า ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และสามารถครองแชมป์ได้หลายปีติดต่อกัน

ขณะที่ สำนักข่าว CNN ยังคงจัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็น “สวรรค์แห่งอาหารริมทาง” หรือเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ดีที่สุดในโลก ต่อเนื่อง จากปีที่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้ออาหารได้หลากหลาย เช่น นํ้าเต้าหู้มื้อเช้า ข้าวหอมมะลิมื้อกลางวัน ผัดไทย หมูสะเต๊ะมื้อเย็น และระบุด้วยว่าเยาวราชคือย่านของกินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ สภาอาหารริมทางโลก (World Street Food Congress) ได้ยกให้ “หอยทอด” เป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ขึ้นชื่อมากที่สุดที่หารับประทานได้ริมทางในกรุงเทพฯ

++ICAO ปลดธงแดง
ถัดมาวันที่ 7 ตุลาคม 2560 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ทำการปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย อันจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ กลับมาให้การยอมรับในมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทยอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้สายการบินของไทยสามารถขอขยายจุดบิน หรือเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ในต่างประเทศได้ตามปกติ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ซึ่งปัจจุบันห้ามไทยขยายจุดบิน และเส้นทางบินเพิ่ม เพราะไทยติดปัญหาธงแดง ทั้งทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยจะได้รับการยอมรับในระบบมาตรฐานสากล ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางทางอากาศมีความมั่นใจที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ขณะที่สายการบินต่างๆ ทั่วโลกก็จะเปิดจุดบินใหม่ๆ และขยายเส้นทางการบินเข้ามาที่ไทยเพิ่มขึ้น

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2-2-503x69 ++อียูฟื้นสัมพันธ์ไทย
ขณะที่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 คณะมนตรีการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) มีมติจะกลับเข้าสู่การติดต่อทางการเมืองในทุกระดับกับประเทศไทยโดยหยิบ 14 ข้อในการชี้แจงที่มาที่ไปของการฟื้นสัมพันธ์กับไทย ซึ่งครอบคลุมในทุกด้านทั้งการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม หวังมุ่งอำนวยความสะดวกการเจรจาในประเด็นสำคัญๆ ร่วมกัน รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญหวังเรื่องแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าการฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้มุ่งเป้าที่รัฐบาลไทยมีโรดแมปการเลือกตั้งชัดเจนในเดือนพฤศจิกายน 2561

การฟื้นสัมพันธ์ของอียูต่อไทย จะเป็นผลดีต่อไทย การที่อียูส่งสัญญาณตรงนี้ออกมา เป็นผลหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เยือนสหรัฐฯ และพบนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมประกาศว่าไทยจะเลือกตั้งในปลายปี 2561 ทำให้หลายกลุ่มประเทศทั่วโลกมองไทยดีขึ้น

++สหรัฐฯปลดไทยพ้น PWL
อีก 2 วันถัดมาคือ วันที่ 15 ธันวาคม 2560 สหรัฐฯได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาอยู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ซึ่งส่งผลดีในด้านความเชื่อมั่นในการทำการค้า การลงทุนกับไทย และยังช่วยส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งหมดเป็นเรื่องราวดีๆ ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก หลัง “รัฐบาล คสช.” ก้าวผ่านความท้าทายมาแล้วกว่า 3 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,325 วันที่ 24 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9